มารู้จักกับ Rapid Antigen Test ชุดตรวจโควิดด้วยตัวเอง รู้ผลไวใน 30 นาที!

rapid test คือ

         เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 64 กระทรวงสาธารณสุข ได้มีประกาศอนุมัติให้ใช้ชุดตรวจโควิดเร่งด่วน ที่เรียกว่า Antigen Test Kit หรือ ATK ซึ่งเป็นการตรวจ Rapid Test ชนิด Antigen โดยอนุมัติให้ประชาชนซื้อมาตรวจเองได้ เรามาทำความเข้าใจให้ชัดก่อนว่า Rapid Test คือ อะไร? มีวิธีใช้งานอย่างไร? หากผลออกมาว่าติดเชื้อควรทำอย่างไร?

สารบัญ

สินค้า COVID ลดราคา สั่งซื้อผ่านไลน์ คลิก

ทำความเข้าใจก่อนใช้งาน Rapid Test หรือชุดตรวจ ATK คืออะไร?

         Rapid Test คือ ชุดทดสอบอย่างง่ายและรวดเร็ว สำหรับการตรวจหาเชื้อไวรัสและภูมิคุ้มกันโควิด-19 ซึ่งใช้เวลาในการตรวจประมาณ 10 – 30 นาที เร็วกว่าวิธีการตรวจแบบ RT-PCR (Real Time Polymerase Chain Reaction) ที่ใช้เวลาประมาณ 24 – 48 ชั่วโมง แต่การตรวจแบบ Rapid Test เป็นแค่เพียงการคัดกรองเบื้องต้นเท่านั้น ผลลัพธ์จะยืนยันได้ ก็ต่อเมื่อเข้ารับการตรวจยืนยันผลจากห้องปฏิบัติการ ด้วยวิธีการตรวจแบบ RT-PCR ที่โรงพยาบาลเท่านั้น

rapid test คือ

ภาพบรรยากาศประชาชนหลายร้อยคน เข้าคิวรับการตรวจโควิด-19 อย่างแออัด ไม่มีการเว้นระยะห่าง ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย

ขอบคุณภาพจาก ประชาชาติธุรกิจ

         ถึงแม้ว่าการตรวจแบบ Rapid Test จะไม่สามารถยืนยันผลลัพธ์การติดเชื้อโควิด-19 ที่แม่นยำได้ แต่ก็สามารถใช้คัดกรองในเบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ที่สงสัยว่าติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ เพื่อลดปัญหาความแออัดและการรอคิวนานจากการเดินทางไปตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาล และยังเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยให้ตรวจพบเชื้อได้เร็วขึ้น เพื่อให้เข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที

         ชุด Rapid Test แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ Rapid Test ชนิดตรวจ Antigen (Rapid Antigen Test) กับชนิดตรวจ Antibody (Rapid Antibody Test) ซึ่งมีจุดประสงค์ในการตรวจที่แตกต่างกัน ดังนี้ (ข้อมูลจาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุข)

  1. Rapid Antigen Test คือ การตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยใช้วิธีการ Swab เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่ง ที่บริเวณจมูกลึกถึงคอ เก็บจากลำคอ หรือเก็บจากบริเวณอื่น ขึ้นอยู่กับวิธีการเก็บตัวอย่างของชุดการตรวจนั้น ๆ ซึ่งวิธีการตรวจนี้ ผู้ตรวจจะต้องรับเชื้อมาแล้ว 5 – 14 วัน ถึงจะได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ เพราะหากเชื้อไวรัสที่มีอยู่น้อย ก็อาจทำให้วิธีการตรวจนี้ไม่พบเชื้อ ดังนั้น จำเป็นจะต้องไปตรวจแบบ RT-PCR ซ้ำที่โรงพยาบาล
  2. Rapid Antibody Test คือ การตรวจหาภูมิคุ้มกันโควิด-19 โดยใช้วิธีการเจาะเลือดที่บริเวณปลายนิ้วหรือท้องแขน ผู้ตรวจจะต้องรับเชื้อมาแล้ว 10 วันขึ้นไป ถึงจะตรวจเจอภูมิคุ้มกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น วิธีการตรวจนี้มีโอกาสคลาดเคลื่อนสูง เพราะภูมิคุ้มกันโควิด-19 ไม่ได้มาจากการติดเชื้อเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะมาจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือแม้กระทั่งผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายป่วยดีแล้ว ก็สามารถตรวจพบได้

         อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยอนุญาตให้ประชาชนซื้อมาใช้ตรวจเองได้ แค่ชุด Rapid Antigen Test Kit หรือ ATK เท่านั้น ส่วนชุด Rapid Antibody Test อนุญาตให้ใช้ได้แค่ในสถานพยาบาล เนื่องจากชุด Rapid Antibody Test มีโอกาสคลาดเคลื่อนสูง และหากผู้ใช้เจาะเลือดไม่ถูกวิธี อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ โดยขณะนี้ (12 กรกฎาคม 64) มีชุด Rapid Antigen Test ขึ้นทะเบียนกับอย. แล้วทั้งหมด 24 ยี่ห้อ (เช็กรายชื่อ 24 ยี่ห้อได้ที่นี่)

Rapid Antigen Test

ชุดตรวจ Rapid Antigen Test Kit หรือ ATK ในประเทศไทย จะวางขายในราคาประมาณ ไม่เกิน 400 บาท/ชุด ในขณะที่ต่างประเทศ วางขายในราคาประมาณ 30 – 40 บาท/ชุด ตัวอย่างเช่นในประเทศเยอรมัน ได้วางขายอยู่ที่ราคา 0.80 ยูโร หรือประมาณ 40 บาท/ชุด เท่านั้น

         จึงทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนไทยว่า ราคาชุดตรวจนั้นแพงไปสำหรับค่าแรงขั้นต่ำหรือเปล่า เพราะการตรวจด้วยชุด ATK จะต้องมีการตรวจซ้ำมากกว่าหนึ่งครั้งตามคำแนะนำ ซึ่งแปลว่า หนึ่งคนใช้ไม่ต่ำกว่า 1 ชุด คงต้องรอติดตามต่อไปว่า ทางภาครัฐจะมีการปรับราคาหรือมีมาตรการการเบิกจ่ายออกมารองรับต่อไปหรือไม่

ชุดตรวจโควิด-19 ATK มีวิธีใช้งานแบบไหน? หากพบว่าติดเชื้อต้องทำอย่างไร?

         ในสัปดาห์หน้าจะเริ่มมีการวางจำหน่าย หากท่านใดที่สนใจจะซื้อมาตรวจ ควรเลือกซื้อชุดตรวจที่ผ่านการประเมินและขึ้นทะเบียน อย.แล้วเท่านั้น นอกจากนี้ ควรอ่านวิธีการใช้งานชุดตรวจยี่ห้อนั้น ๆ ให้รอบคอบก่อนการใช้งาน และอย่าลืมว่าการใช้ชุดตรวจ ATK นี้เป็นการใช้เพื่อตรวจอาการเบื้องต้นเท่านั้น โดยต้องทำควบคู่กับการป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด

ชุดตรวจโควิด

ข้อควรระวังในการใช้งาน

  • เก็บรักษาชุดตรวจในอุณหภูมิที่กำหนดและตรวจสอบวันหมดอายุก่อนใช้งาน
  • เตรียมพื้นที่สำหรับการตรวจที่เหมาะสม ทำความสะอาดพื้นที่ที่จะวางแผ่นตรวจด้วยแอลกอฮอล์
  • อย่าเปิดหรือฉีกบรรจุภัณฑ์จนกว่าจะใช้งาน
  • ไม่ใช้อุปกรณ์หรือตลับทดสอบซ้ำ

การเตรียมตัวก่อนเริ่มตรวจ [คำแนะนำจากระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักร (NHS)]

  • ไม่ควรดื่มหรือทานอาหาร ก่อนการตรวจเชื้ออย่างน้อย 30 นาที
  • หากเพิ่งมีเลือดกำเดาไม่เกิน 24 ชั่วโมง ให้หลีกเลี่ยงการตรวจไปก่อน หรือให้ตรวจจากรูจมูกข้างที่ไม่มีเลือดกำเดาไหล
  • หากเจาะจมูก ต้องถอดห่วงหรือจิลที่เจาะจมูกออกก่อนทำการตรวจ พยายามหลีกเลี่ยงการตรวจจากจมูกข้างที่เจาะ

วิธีการใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test

  1. ล้างมือด้วยสบู่ น้ำสะอาด และเจลแอลกอฮอล์
  2. เริ่มเก็บตัวอย่างเชื้อ ด้วยการใช้ก้านสำลีสำหรับ swab โดยทำตามคำแนะนำที่มากับชุดตรวจอย่างเคร่งครัด เช่น การแหย่จมูก การแหย่ลำคอ กระพุ้งแก้ม เป็นต้น ซึ่งจะหมุนก้านลำสีประมาณ 3 – 4 ครั้ง หรือ 3 วินาที
  3. นำก้านสำลีมาหมุนใส่หลอดที่มีสารละลายตรวจเชื้อ หมุนวนอย่างน้อย 5 ครั้ง หรือ 15 วินาที แล้วบีบสำลีให้แห้งผ่านหลอด ห้ามให้มือสัมผัสกับก้านสำลีหรือสารละลายเด็ดขาด
  4. เมื่อเสร็จแล้วให้นำก้านสำลีทิ้งใส่ซีล และหยดสารละลายลงในแท่นตรวจ ตามจำนวนหยดที่ชุดตรวจกำหนดไว้ รอผล 15 – 30 นาที

ตรวจ rapid test

ขอบคุณภาพจาก MThai

วิธีอ่านค่าผลตรวจ

  • หากตรงตัวอักษร C ขึ้นขีดเดียว แปลว่า ผลตรวจเป็นลบ (ไม่ติดเชื้อ)
  • หากตรงตัวอักษร C และ T ขึ้น 2 ขีด แปลว่า ผลตรวจเป็นบวก (พบเชื้อ)
  • หากไม่มีขีดที่ตัว C และ T หรือปรากฎแค่ตรง T แปลว่า แผ่นเทสเสีย

กรณีผลเป็นบวก (พบเชื้อ) ให้ปฏิบัติดังนี้

  • เข้ารับการตรวจยืนยันผลแบบ RT-PCR ซ้ำที่โรงพยาบาล
  • หากทราบว่าติดให้ติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • ระหว่างนั้นให้กักตัวเองแยกจากผู้อื่นและหลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกัน
  • แจ้งผู้ใกล้ชิดที่มีความเสี่ยง ให้เข้ารับการตรวจเชื้อ
เตียงผู้ป่วยโควิด-19 เต็มต้องทำอย่างไร? เอาตัวรอดด้วยวิธีไหนหากติดโควิด-19

กรณีผลเป็นลบ (ไม่พบเชื้อหรือเชื้อมีปริมาณไม่มากพอ) ให้ปฏิบัติดังนี้

  • หากเป็นผู้ที่สงสัยว่าอาจจะติด ให้ทำการทดสอบซ้ำอีกใน 5 – 7 วัน ในระหว่างนั้นต้องกักตัวแยกจากผู้อื่นเช่นเดียวกับผู้ติดเชื้อ
  • หากมีอาการของโรคโควิด-19 ให้ทำการทดสอบซ้ำทันที โดยเฉพาะหากมีอาการทางเกี่ยวกับการหายใจ ให้ไปตรวจซ้ำด้วยวิธี RT-PCR ทันที

วิธีทิ้งชุดตรวจหลังตรวจเสร็จ

         ควรใส่ชุดตรวจที่ใช้แล้วลงซีล แล้วทิ้งในถุงขยะแยกจากขยะอื่น ๆ โดยต้องปิดปากถุงขยะให้แน่นหนาและมิดชิด ห้ามไม่ให้ขยะหลุดรอดออกมาได้ เป็นไปได้ควรใส่ขยะในถุงสีแดง เพราะใช้สำหรับใส่ขยะติดเชื้อ หรืออาจแปะป้าย/ทำสัญลักษณ์ ให้รู้ว่าเป็นขยะติดเชื้อ

สรุป

         ในช่วงเวลานี้ การเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นเรื่องที่ลำบากมาก เนื่องจากชุดอุปกรณ์ไม่เพียงพอ รวมทั้งความแออัดเบียดเสียดในการรอตรวจ ชุดตรวจ Rapid Antigen Test จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ออกมารองรับปัญหาเหล่านี้ แม้จะไม่สามารถการันตีผลได้ แต่อย่างน้อยก็สามารถใช้คัดกรองเบื้องต้นได้ โดยหวังว่าในอนาคต ชุดตรวจเหล่านี้จะสามารถซื้อได้ง่าย และมีราคาที่จับต้องได้สำหรับคนทุกกลุ่มทุกรายได้มากยิ่งขึ้น

Website ของเรามีการเก็บ cookies เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ... อ่านเพิ่มเติม นโยบายคุกกี้

Close Popup