อย่าเฉยชากับ…อาการแพ้กัญชาในอาหาร อาจถึงตายได้!

อาการแพ้กัญชาในอาหาร

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

         หลังจากที่นโยบายกัญชาเสรี ได้ปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติดเป็นสมุนไพรควบคุม ทำให้หลายคนหันมาใช้และซื้อ-ขายกัญชากันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการใส่กัญชาลงในอาหาร แต่กลับกลายเป็นว่า มีผู้เสียชีวิตและได้รับอันตรายจากการได้รับสารในกัญชา มาดูกันว่า อาการแพ้กัญชาในอาหาร เป็นอย่างไร? เพื่อที่จะได้ระมัดระวังและไปพบแพทย์ได้ทันก่อนที่จะเกิดอันตรายค่ะ

สารบัญ

10 อาการแพ้กัญชาในอาหาร ที่คุณควรรีบไปพบแพทย์!

        อาการแพ้กัญชาในอาหาร เป็นภัยร้ายใกล้ตัวใหม่ที่ไม่ควรมองข้ามเลยค่ะ เพราะร้านอาหารหลาย ๆ ร้าน มีการนำกัญชามาเป็นส่วนประกอบในอาหาร บางท่านก็อยากจะทดลองกินว่าเป็นอย่างไร แต่บางท่านก็ไม่ได้ตั้งใจจะกิน แต่ทางร้านอาหารไม่ได้มีการแจ้งไว้ว่าใส่กัญชา ดังนั้น เราต้องสังเกตอาการตนเองหลังรับประทานอาหารด้วยว่า มีอาการแพ้กัญชาหรือเปล่า

อาการแพ้กัญชาในอาหาร

อาการแพ้กัญชาในอาหาร

  • ง่วงนอนมาก และรู้สึกอารมณ์แปรปรวน
  • ปากแห้ง คอแห้ง กระหายน้ำ
  • เวียนหัว คลื่นไส้-อาเจียน
  • เหงื่อออกมากผิดปกติ ตัวสั่น
  • ไม่สามารถทรงตัวเวลาเดินได้ เริ่มพูดไม่ชัดหรือพูดไม่รู้เรื่อง
  • รู้สึกกระวนกระวาย วิตกกังวล หรือหวาดระแวงไม่มีสาเหตุ
  • หูแว่ว เห็นภาพหลอน พูดคนเดียว
  • หายใจไม่ค่อยสะดวก เจ็บหน้าอก
  • หัวใจเต้นเร็วและรัวผิดจังหวะ
  • เป็นลมหมดสติ
เครื่องวัดความดัน

         ในรายที่มีอาการแพ้กัญชาในอาหารมาก หรือไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ในกรณีร้ายแรงอาจถึงขั้นต้องล้างไต ส่งผลเสียกับตับ และอาจเสียชีวิตได้ในที่สุดค่ะ โดยหลายคนอาจจะเข้าใจว่า การกินอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาอันตรายน้อยกว่าการเสพกัญชาโดยตรง แต่แท้จริงแล้วกัญชาที่อยู่ในอาหารนั้นออกฤทธิ์ไม่ต่างจากการเสพโดยตรงเลยค่ะ ต่างกันแค่ระยะเวลาในการออกฤทธิ์ตามปริมาณสารที่ได้รับเท่านั้นค่ะ

ตัวอย่าง ผู้ที่แพ้กัญชาในอาหาร

เมากัญชา แก้อย่างไร?

         สำหรับใครที่กินหรือใช้กัญชา แล้วพบอาการไม่พึงประสงค์ของการเมากัญชา ที่ไม่ใช่อาการแพ้กัญชาในอาหาร แล้วอยากแก้อาการเมากัญชานั้นให้หาย ก็สามารถแก้ไขอาการเมาเหล่านั้น แบบเบื้องต้นได้ ด้วยการใช้สมุนไพรที่หาได้ทั่วไปเลยค่ะ

เมากัญชา แก้อย่างไร

  • อาการปาก-คอแห้ง กระหายน้ำ : ให้ดื่มน้ำเปล่าตามในปริมาณมาก ๆ อย่าปล่อยให้กระหายน้ำ
  • รู้สึกมึนเมา : ให้กินน้ำมะนาวปริมาณครึ่งลูก ผสมกับเกลือหรือน้ำผึ้งเล็กน้อย หรือเคี้ยวพริกไทย
  • เวียนหัว คลื่นไส้-อาเจียน : ให้ดื่มน้ำขิงหรือชาขิง 1 แก้ว (250 มิลลิลิตร)

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

โดยปกติแล้วอาการเมากัญชาจะหายไปเองภายใน 30 นาที – 2 ชั่วโมง แต่อาจเร็วหรือช้ากว่านี้  ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ปริมาณสารที่ได้รับ วิธีการรับสาร เป็นต้น

ใครบ้างที่ควรระวังกัญชาในอาหาร

         แม้ในปัจจุบัน กัญชาจะไม่ใช่ยาเสพติด และอนุญาตให้ประชาชนกินหรือใช้กัญชาได้ (ภายใต้กฎหมายควบคุม) แต่สำหรับคนบางกลุ่มแพทย์ก็ไม่แนะนำให้กินหรือใช้กัญชา นอกเหนือจากการใช้เพื่อรักษา ซึ่งการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค ก็ต้องใช้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะคนกลุ่มเหล่านี้หากได้รับกัญชา จะได้รับผลเสียที่อันตรายถึงชีวิตได้มากกว่าคนทั่วไป

เมากัญชาในอาหาร

1.เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี

         หากเด็กที่อายุต่ำกว่า 20 ปี หรือเด็กเล็กใช้ นอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อสมอง ทำให้พัฒนาการช้า เสี่ยงเป็นโรคจิตเภท ส่งผลกับอารมณ์และจิตใจ อีกทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว ที่สำคัญคือ เด็กโอกาสในการติดกัญชาได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่มาก

2.สตรีมีครรภ์ ให้นมบุตร หรือวางแผนจะตั้งครรภ์

         ในสตรีที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร กัญชาจะส่งผลเสียต่อเด็กในเรื่องของสมอง ทำให้มีปัญหาด้านพัฒนาการและการเรียนรู้ ส่วนเด็กที่อยู่ในครรภ์เสี่ยงที่จะคลอดออกมาไม่สมบูรณ์ น้ำหนักน้อย อาจคลอดก่อนกำหนดหรือเสียชีวิตได้ ส่วนผู้ที่วางแผนจะตั้งครรภ์อาจทำให้ท้องนอกมดลูก หรือไม่สามารถตั้งครรภ์ได้

3.ผู้ที่มีโรคประจำตัว

         กัญชาจะส่งผลโดยตรงต่อการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูงหรืออาจต่ำผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจตาย และส่งผลกระทบต่อไตและตับโดยตรง ดังนั้น ต้องระมัดระวังโดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวโรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิต โรคไต-ตับบกพร่อง และอาจเป็นอันตรายต่อผู้ที่ทานยาโรคประจำตัวบางชนิดด้วย

แพ้กัญชาในอาหาร อาการ

4.ผู้สูงอายุ

         เนื่องจากกัญชาทำให้หัวใจเต้นเร็วและความดันโลหิตผิดปกติ จึงเสี่ยงทำให้ผู้สูงอายุหัวใจวายหรือเสียชีวิตกะทันหัน แลยังส่งผลกระทบต่ออาการทางจิต อาจทำให้เกิดการทำร้ายตัวเองได้ นอกจากนี้ ยังมีผลข้างเคียงที่ทำให้ผู้สูงอายุทรงตัวไม่ได้ จึงเสี่ยงต่อการเกิดการหกล้มในผู้สูงอายุได้

การหกล้มในผู้สูงอายุ อุบัติเหตุในผู้สูงอายุที่ต้องระวังไว้เพื่อคนที่คุณรัก

5.ผู้ที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือด (ยาวาร์ฟาริน)

         กัญชาจะทำให้ยาละลายลิ่มเลือด ออกฤทธิ์มากขึ้นหรือเพิ่มขนาดยา ส่งผลให้เลือดแข็งตัวได้ลดลง ปริมาณเลือดมาก และเลือดออกได้ง่ายขึ้น จนอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้

6.ผู้ที่มีประวัติเคยแพ้กัญชา

         หากเคยมีอาการแพ้กัญชาเกิดขึ้นแล้ว ควรหลีกเลี่ยงที่จะกินอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาซ้ำ เพราะจะทำให้อาการแพ้กัญชาเกิดขึ้นอีก และอาจส่งผลอันตรายต่อชีวิตได้

How To ป้องกัน อาการแพ้กัญชาในอาหาร

         สำหรับคนที่กลัวอาการแพ้กัญชาในอาหาร การหลีกเลี่ยงไม่กินอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาเป็นวิธีที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม ยังมีร้านอาหารหลายแห่ง ที่ใช้กัญชาเป็นส่วนผสมของอาหารแต่ไม่ติดป้ายเตือน จึงยากที่จะหลีกเลี่ยง หรือบางท่านอยากที่จะกินอาหารที่มีกัญชา แต่กลัวแพ้ เราก็มีวิธีป้องกันดี ๆ มาฝากค่ะ

อาการแพ้กัญชาในอาหาร

  • หากต้องการหลีกเลี่ยงควรถามผู้ขายก่อนว่ามีกัญชาหรือไม่ หรือหากเป็นผลิตภัณฑ์อาจสังเกตที่สัญลักษณ์บนฉลากว่ามีส่วนผสมของสาร Cannabis, THC, CBD, หรือ Hemp หรือเปล่า
  • สอบถามจากผู้ขายว่า ใช้ส่วนใดของกัญชาในการทำอาหาร และใช้ปริมาณเท่าใด โดยส่วนที่ปลอดภัยคือใบ (ไม่ควรกินช่อดอก) แต่ไม่ควรกินทั้งใบ หรือเป็นเมนูกัญชาที่ผ่านความร้อน เช่น ผัด ทอด เพราะจะทำให้สารกัญชาออกมามากและอาจเสี่ยงต่อการแพ้กัญชาได้
  • หากจะเริ่มทดลองกินกัญชาในอาหารครั้งแรก ควรเริ่มจากปริมาณน้อย (ประมาณครึ่งใบ/วัน) ก่อนว่า มีอาการแพ้หรือไม่
  • แนะนำให้เลือกกินใบสด กินจิ้มน้ำพริก ทำเป็นสลัด หรือคั้นน้ำสด จะไม่มีสารที่ทำให้มึนเมา ไม่ควรกินใบกัญชาแก่ หรือใบกัญชาตากแห้ง เพราะมีสารมาก
  • ไม่ควรกินกัญชา เกิน 5-8 ใบต่อวัน ดังนั้น ไม่ควรกินเมนูกัญชาเกิน 2 เมนู และควรเช็กปริมาณใบในเมนูอาหารให้ดี
  • ห้ามกินอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์

สรุป

         จะเห็นได้ว่า อาการแพ้กัญชาในอาหาร กลายมาเป็นภัยร้ายใหม่ที่เราทุกคนควรระวังมากขึ้น เพราะร้านอาหารหลายร้านไม่มีการแจ้งเตือนก่อนว่า มีการใส่กัญชาลงในอาหาร ทำให้บางคนอาจแก้กัญชาได้โดยไม่รู้ตัว รวมทั้งผู้ที่อยากจะลองกินกัญชาในอาหาร ก็ต้องหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของตนเองไว้ หากพบอาการที่เข้าข่ายว่าแพ้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

Website ของเรามีการเก็บ cookies เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ... อ่านเพิ่มเติม นโยบายคุกกี้

Close Popup