เพราะการทานอาหาร เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับมนุษย์ โดยเฉพาะวัยสูงอายุที่มีการเสื่อมถอยของร่างกาย จึงต้องทานอาหารที่เหมาะสม เพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน สำหรับบทความนี้ เราจะมาพูดถึงวิธีที่จะช่วยให้การกิน อาหารสำหรับผู้สูงอายุ เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น โดยการปรับเปลี่ยนวิธีอาหาร และการใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือกันค่ะ
สารบัญ
- ปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถมีความสุขกับการทานอาหารเหมือนเดิม
- อาหารสำหรับผู้สูงอายุ ทานอย่างไรให้ครบ 5 หมู่
- ปรุงอาหารอย่างไรให้การกินอาหารสำหรับผู้สูงอายุเป็นเรื่องง่าย
- อุปกรณ์ที่ช่วยให้การกินอาหารสำหรับผู้สูงอายุเป็นเรื่องสนุก
ปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุ ไม่สามารถมีความสุขกับการทานอาหารเหมือนเดิม
ผู้สูงอายุ คือ บุคคลที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายเสื่อมสลายลง มากกว่าสร้างเสริม เหมือนช่วงวัยอื่น ๆ และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ก็ส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุในหลาย ๆ ด้าน รวมถึงเรื่องสำคัญอย่างการรับประทานอาหาร
1.ปัญหาสุขภาพช่องปาก เช่น การสูญเสียฟัน ฟันผุและรากฟันผุ เหงือกอักเสบ เป็นแผลและมะเร็งช่องปาก ฟันสึก ภาวะน้ำลายแห้ง ซึ่งส่งผลต่อการบดเคี้ยวอาหารภายในปาก ทำให้รู้สึกเจ็บปวดเวลาทานอาหาร
วิธีแก้ไข :
- จัดเตรียมอาหารที่รับประทานง่าย เคี้ยวง่าย ในกรณีที่ผู้สูงอายุไม่สามารถเคี้ยวได้ อาจจะให้ทานอาหารประเภทซุป โจ๊ก ข้าวต้ม
- ควรพาผู้สูงอายุไปตรวจสุขภาพเหงือกและฟัน เป็นประจำทุก 6 เดือน เพื่อรักษาปัญหาที่เกิดขึ้นได้ตรงจุด
- หลังรับประทานอาหารควรแปรงฟัน หรือบ้วนปากในกรณีที่มีปัญหากับการแปรงฟันทุกครั้ง
2.ความสามารถในการรับรสบนลิ้น การแยกแยะรสหวาน เค็ม เปรี้ยว ขม และการรับกลิ่น ที่เสื่อมถอยเมื่ออายุมากขึ้น ก็จะรู้สึกว่าไม่อร่อย ทำให้ไม่อยากอาหาร
วิธีแก้ไข :
- ปรับรสชาติอาหารให้พอดีกับความชอบของผู้สูงอายุ การปรุงอาหารที่มีรสเค็ม หรือรสเปรี้ยวอ่อน ๆ จะช่วยกระตุ้นการขับน้ำย่อย และน้ำลาย ทำให้
- เกิดความรู้สึกเจริญอาหารมากขึ้น
- คิดเมนูอาหารใหม่ ๆ เพื่อกระตุ้นความอยากอาหาร
3.ปัญหาสุขภาพจิต รู้สึกเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวัยสูงอายุ
วิธีแก้ไข :
- หากิจกรรมผ่อนคลายความเครียด สร้างความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง
- ให้ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง ทางร่างกายของผู้สูงอายุ ความรู้เรื่องอนามัย และความรู้อื่น ๆ ในการดูแลสุขภาพกาย และใจของตนเองแก่ผู้สูงอายุ
4.ปัญหาการย่อย และการดูดซึม เพราะ น้ำย่อยในกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กมีน้อยลง จึงทำให้อาหารถูกย่อยได้ไม่สมบูรณ์ รวมถึงกล้ามเนื้อควบคุมการบีบคลายตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ทำงานไม่ปกติ ทำให้ย่อยอาหารได้ยาก เมื่ออาหารถูกย่อยได้ไม่สมบูรณ์ ก็จะเกิดการสะสมแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ และปล่อยก๊าซออกมาทำให้ท้องอืด หรือท้องผูก
วิธีแก้ไข :
- ควรจัดเตรียมอาหารที่เหมาะสม โดยอาหารต้องอ่อนนุ่มหรือปรุงให้นิ่ม หลีกเลี่ยงอาหารที่ย่อยยาก และต้องมีสารอาหารครบถ้วน 5 หมู่ และทานในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
- ปริมาณอาหารของแต่ละมื้อควรจะลดลง แต่กินให้บ่อยขึ้นเพื่อช่วยให้การย่อยอาหารสะดวก อาจจัดเป็น 4 – 5 มื้อก็ได้
- กินอาหารขณะที่ยังร้อน ๆ จะช่วยกระตุ้นน้ำย่อยอาหาร ทำให้กินอาหารได้มากขึ้นและการย่อยอาหารดีขึ้น
5.ผู้สูงอายุที่ทานข้าวคนเดียวเป็นประจำ มักรู้สึกโดดเดี่ยว ทำให้ความอยากอาหารลดลง และกินอาหารได้น้อยลง
วิธีแก้ไข :
- ครอบครัวควรหาเวลาทานอาหารกับผู้สูงอายุเป็นประจำ หากเป็นไปได้ควรกินข้าวด้วยกันทุกวัน และในช่วงที่ลูก ๆ ไปทำงาน หากมีผู้ดูแลอยู่ด้วย อาจให้ผู้ดูแลกินข้าวพร้อมกับคุณพ่อคุณแม่ จะทำให้ท่านไม่รู้สึกโดดเดี่ยว
อาหารสำหรับผู้สูงอายุ ทานอย่างไรให้ครบ 5 หมู่
หมู่ที่ 1 เนื้อสัตว์ต่าง ๆ ไข่ นม ถั่วเมล็ดแห้ง
- เนื้อปลาเหมาะกับผู้สูงอายุ เพราะย่อยง่าย
- ไข่ไก่ หรือไข่เป็ดควรต้มจนสุด
- นมสดพร่องมันเนยเป็นอาหารที่ให้แคลเซียม และโปรตีน
- ถั่วเมล็ดแห้งเป็นอาหารที่ให้โปรตีนสูง และมีราคาถูก ใช้แทนอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ได้ เช่น เต้าหู้ โปรตีนเกษตร เป็นต้น
หมู่ที่ 2 ข้าว แป้ง น้ำตาล เผือก มัน
- สารอาหารหมู่นี้เป็นอาหารที่ให้พลังงานเป็นส่วนใหญ่ ผู้สูงวัยควรทานในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่ควรทานมากเกินไป
หมู่ที่ 3 ผักต่าง ๆ
- ผักเป็นอาหารที่อุดมด้วยวิตามิน และแร่ธาตุ ผู้สูงวัยควรเลือกกินผักหลายๆ ชนิดสลับกัน ควรต้ม หรือนึ่งจนสุก ไม่ควรบริโภคผักดิบ เพราะย่อยยาก และทำให้ท้องอืดได้
หมู่ที่ 4 ผลไม้ต่าง ๆ
- ผู้สูงอายุควรกินผลไม้ทุกวัน เพื่อให้ได้รับวิตามินซี และเส้นใยอาหาร และควรเลือกผลไม้ที่มีเนื้อนุ่ม เคี้ยวง่าย ได้แก่ มะละกอสุก กล้วยสุก ส้ม ฯลฯ
หมู่ที่ 5 ไขมัน / น้ำมันพืช
- ควรใช้น้ำมันพืชปรุงอาหาร เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำ หลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันจากสัตว์ และน้ำมันพืชบางชนิด เช่น น้ำมันปาล์ม และน้ำมันมะพร้าว
อาหารสำหรับผู้สูงอายุที่ควรหลีกเลี่ยง
- เนื้อสัตว์เคี้ยวยาก หรือผักเนื้อแข็ง
- ผักผลไม้ที่มีเส้นใยอาหารสูง
- ขนมเหนียวๆ เช่น เปียกปูน ขนมชั้น เพราะติดคอได้ง่าย
- กุยช่าย และเห็ดเข็มทอง เพราะติดฟันง่าย จึงกลืนยาก
- ขนมกรุบกรอบ เช่น ขนมปัง หรือคุกกี้
- อาหารที่เป็นผง เช่น นมผง งาบด
- สาหร่ายต่างๆ เพราะ ติดคอง่าย
- ของหมักดองที่มีกลิ่นแรง ทำให้สำลักได้ง่าย
- อาหารประเภทเส้น เช่น บะหมี่ อูด้ง เส้นก๋วยเตี๋ยวที่ไม่ได้ตัดให้สั้นลง
ปรุงอาหารอย่างไรให้การกิน อาหารสำหรับผู้สูงอายุ เป็นเรื่องง่าย
การเปลี่ยนวิธีปรุงอาหาร จะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถเคี้ยวหรือกลืนอาหารได้โดยไม่ต้องใช้ความพยายาม ช่วยป้องกันการสำลัก ซึ่งเป็นสาเหตุของการกินอาหารได้น้อย และทำให้ผู้สูงอายุ มีความสุขกับการทานอาหารมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งสามารถทำได้โดยการเปลี่ยนส่วนผสม ปรับปริมาณ ขนาด ความแข็ง ความเหนียว และความข้นของอาหาร ให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุแต่ละคน
ก่อนเลือกใช้ส่วนผสมทำอาหารแต่ละเมนู ควรดูความสามารถในการกินอาหาร เช่น การเคี้ยว และการกลืน ของผู้สูงอายุ
1.ข้าว / เส้นต่างๆ / ขนมปัง
- หุงข้าวให้นุ่มกว่าปกติ
- ทำเป็นข้าวต้ม โดยใช้อัตราส่วนข้าวสาร 1 ส่วน น้ำ 5 ส่วน
- ทำเป็นข้าวเปียก โดยใช้อัตราส่วนข้าวสาร ½ ส่วน น้ำ 5 ส่วน
- หั่นเส้นพาสต้า หรือเส้นก๋วยเตี๋ยวให้สั้นลง
- แช่ขนมปังในนมจนนุ่มเพื่อให้เคี้ยวง่ายขึ้น
- หลีกเลี่ยงเบเกอรี่เนื้อกรุบกรอบ
- ปั่นข้าวต้มให้เป็นเนื้อเนียนละเอียด
2.กับข้าว
- เนื้อสัตว์ควรเลือกเนื้อติดมันเล็กน้อย เช่น สันนอกหมู หรือสะโพกไก่ และตัดเอ็นออก ต้มให้นิ่ม
- เนื้อปลาควรเลือกปลาเนื้อไม่แข็ง เช่น ปลานิล ปลาตาเดียว ปลากะพง
- เนื้อสัตว์ ต้มจนนิ่มจนใช้ตะเกียบหรือช้อนตัดขาดได้ง่าย
- เนื้อปลา เลือกปลาเนื้อนิ่มต้มจนสุก
3.ผัก
- ผักที่มีเส้นใยควรหั่นเป็นชิ้นสามเหลี่ยม หรือสี่เหลี่ยม หนา 5-8 มิลลิเมตร
- ต้มจนนิ่มเพื่อให้กลืนง่าย
- ต้มจนนิ่มแล้วทำเป็นน้ำราด เช่น ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า
- ต้มจนเปื่อยสามารถกินได้โดยไม่ต้องเคี้ยว เช่น จับฉ่าย
ตัวอย่างเมนู อาหารผู้สูงอายุ
- โจ๊ก ข้าวต้มปลา ข้าวโอ๊ตต้มใส่นม ไข่ตุ๋น
- ซุปมะเขือเทศ ซุปเห็ด ซุปฟักทอง ซุปลูกเดือย ซุปข้าวกล้อง ซุปธัญพืช
- ถั่วแดงกวน ถั่วเขียวต้มน้ำตาล ลูกเดือยต้มน้ำตาล กล้วยบวชชี ฟักทอ
- ผัดไข่ เห็ดผัดน้ำมันหอย ผัดดอกกุ้ยช่ายตับ ผัดไชโป้วใส่ไข่ ผัดผัดบุ้ง
- ต้มเลือดหมู กระเพาะตุ๋นน้ำแดง ต้มยำปลากระพง
- ปลาเล็กปลาน้อยทอด ทอดมันปลากราย
- แกงส้มผักรวม แกงจืดไข่เจียว แกงป่าไก่ แกงจืดตำลึงหมูสับ ต้มจับฉ่าย
- ก๋วยเตี๋ยวหลอด สลัดปลาทูน่า สุกี้กุ้ง ฟักไก่ตุ๋นมะนาวดอง
อาหารประเภทต้มจนเปื่อยนิ่ม เช่น เมนูต้มจับฉ่าย หมูตุ๋น ปลานึ่งซีอิ๊ว แล้วหั่นให้เป็นชิ้นพอดีคำ เป็นอาหารยอดฮิตที่เหมาะกับผู้สูงอายุ
อุปกรณ์ที่ช่วยให้การกิน อาหารสำหรับผู้สูงอายุ เป็นเรื่องสนุก
ผู้สูงอายุที่ขยับมือได้ไม่คล่อง หรือไม่สามารถตักอาหารเองได้ ควรใช้อุปกรณ์ช่วยทานอาหาร เพื่อลดความเครียดระหว่างการกินอาหาร อีกทั้งยังเสริมสร้างความมั่นใจ และเติมความสุขระหว่างวันด้วย ปัจจุบันมีอุปกรณ์การกินอาหารสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ซึ่งผู้สูงวัยแต่ละคนก็มีความต้องการใช้อุปกรณ์ที่แตกต่างกัน แต่อุปกรณ์ดังกล่าวอาจจะหาซื้อได้ยากในประเทศไทย เราสามารถดัดแปลงให้ใช้ได้ตามความเหมาะสม
อุปกรณ์ตักอาหาร
- ตะเกียบติดสปริง : ช่วยให้การคีบตะเกียบออกแรงน้อยลง
- ช้อนส้อมที่มีด้ามจับขนาดใหญ่ หรือโค้งงอ : ช่วยให้จับถนัดมือโดยไม่ต้องเกร็งมือ เพราะมีด้ามจับใหญ่และทำจากยาง
- ช้อนสารพัดประโยชน์ : มีลักษณะคล้ายคีมคีบอาหาร ใช้สำหรับตัก หนีบ หรือคีบอาหารตามความสะดวกของผู้สูงอายุ
ภาชนะบรรจุอาหาร
- จานที่ตักอาหารได้ง่าย : ขอบด้านหนึ่งมีขอบสูงตั้งขึ้นมา เพื่อให้ตักอาหารได้ง่าย
- ชามมีด้ามจับ : ถือถนัดมือ ไม่ต้องกลัวตกเพราะมีด้ามจับขนาดใหญ่
- แก้วที่มีปากทรงรี : ด้านหนึ่งของแก้วเว้าลงไปเพื่อไม่ให้จมูกชนขอบแก้ว ผู้สูงอายุจึงไม่ต้องก้มหน้าจนลึกก็สามารถดื่มน้ำได้
- หมอนรองชามข้าว : ใช้รองชามข้าวเพื่อไม่ให้ชามคว่ำง่ายๆ ทำจากซิลิโคน
- แก้วน้ำพร้อมหลอด : สามารถหาได้ทั่วไป ช่วยให้ผู้สูงอายุดื่มน้ำได้โดยไม่หกเลอะเทอะ
- แผ่นรองจานกันลื่น : ใช้รองเพื่อวางจานชาม ป้องกันไม่ให้ลื่น
สรุป
การรับประทานอาหาร ไม่ได้เป็นเพียงการตอบสนองความต้องการทางร่างกายเท่านั้น แต่ยังเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขในการใช้ชีวิตด้วย แต่สำหรับผู้สูงอายุที่มีความลำบากในการกินอาหาร ความสุขตรงนี้คงขาดหายไป แต่อย่างไรก็ตามครอบครัว หรือผู้ดูแลก็สามารถช่วยให้ความสุขในการกินอาหารของผู้สูงอายุกลับมาได้ด้วยวิธีข้างต้น อ่านบทความนี้จบแล้ว อย่าลืมกลับบ้านไปทำอาหารมื้อพิเศษให้กับผู้สูงอายุที่บ้านกันนะคะ
BED & MATTRESS PRODUCT
ใบอนุญาตโฆษณาเลขที่ ฆพ.816/2563 *อ่านคำเตือนในฉลากและเอกสารกำกับเครื่องมือแพทย์ก่อนใช้
จัดจำหน่าย บริษัท ฟาร์ ทริลเลียน จำกัด 73,75 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 89/2 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ10700