สำหรับผู้ป่วย ที่ไม่สามารถขับเสมหะได้เองนั้น จะส่งผลเสียต่อร่างกายมากมาย แพทย์จึงจำเป็นจะต้อง ดูดเสมหะ ที่ค้างเหล่านั้นให้ผู้ป่วย แต่เมื่อผู้ป่วยกลับมาพักฟื้นที่บ้าน ในบางรายอาจจะต้องให้ผู้ดูแลดูดเสมหะให้ผู้ป่วยเอง ซึ่งผู้ดูแลหลายคนก็กลัวผู้ป่วยจะเจ็บปวดหรือทรมานจนไม่กล้าทำ บทความนี้จึงมี วิธีดูดเสมหะทางปาก จมูก หรือท่อเจาะคอให้ผู้ป่วย พร้อมทั้งมีวิธีการสังเกตอาการผู้ป่วยเมื่อต้องการการดูดเสมหะง่าย ๆ มาฝากกันค่ะ
เสมหะ คืออะไร?
เสมหะ คือ สารเมือกที่อยู่บริเวณทางเดินหายใจ ตั้งแต่หลอดลมคอถึงหลอดลมฝอย มีประมาณ 10 – 100 มิลลิลิตร/วัน หรือที่มักเรียกกันว่าเสลด โดยเสมหะเหล่านี้ เกิดจากเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม ที่เข้าไปทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณหลอดลมและลำคอ ร่างกายจึงหลั่งเสมหะออกมา เพื่อเคลือบลำคอไม่ให้ระคายเคือง ซึ่งหากหลั่งออกมามากเกินไป จะทำให้เสมหะเกิดเป็นก้อนเหนียวและอาจติดคอได้ หากไม่กำจัดเสมหะออกไป อาจสร้างความรำคาญใจและส่งผลเสียต่อร่างกาย นอกจากนี้เสมหะยังเป็นสัญญาณบอกโรคต่าง ๆ ได้อีกด้วย
เสมหะ แต่ละสีบอกอะไร? กำจัดเสมหะได้อย่างไร สนใจอ่านต่อ คลิกเลย!สารบัญ
- ทำไมถึงต้องดูดเสมหะ?
- การดูดเสมหะทำให้ผู้ป่วยเจ็บหรือทรมานไหม?
- วิธีการดูดเสมหะที่ถูกต้องจะช่วยให้ผู้ป่วยเจ็บน้อยลงได้นะ!
- จะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อไหร่ที่ต้องดูดเสมหะผู้ป่วย?
ทำไมถึงต้อง ดูดเสมหะ ?
หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมต้องดูดเสมหะให้ผู้ป่วย นั่นก็เพราะว่าเสมหะที่ค้างภายในลำคอเหล่านั้น จะสร้างความรำคาญให้กับผู้ป่วย อาจทำให้ไม่สามารถหายใจได้สะดวก จนถึงขั้นขาดออกซิเจนได้นะคะ ซึ่งหากปล่อยเสมหะเหล่านั้นเอาไว้เรื่อย ๆ จะยิ่งเป็นการสะสมเชื้อโรค จนทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ดังนั้น การดูดเสมหะ จึงเป็นการป้องกันปัญหาเหล่านั้น และช่วยสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับผู้ป่วย ดังนี้ค่ะ
- ช่วยให้หายใจได้สะดวกมากขึ้น ไม่เกิดภาวะพร่องออกซิเจน
- ป้องกันการสำลักสิ่งแปลกปลอม เช่น เลือด อาเจียน น้ำเข้าสู่ปอด
- ลดความเสี่ยงการติดเชื้อในทางเดินหายใจ
- ป้องกันการติดเชื้อจากการค้างของเสมหะ
- ในบางราย การดูดเสมหะ จะช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยเกิดการไอขับเสมหะได้เอง
การ ดูดเสมหะ ทำให้ผู้ป่วยเจ็บหรือทรมานไหม?
สำหรับผู้ป่วยที่แพทย์มีคำสั่งให้กลับมาดูดเสมหะเองที่บ้านนั้น ผู้ดูแลหลายคนมักเกิดความกังวลใจหลายอย่าง โดยเฉพาะปัญหายอดฮิตอย่างการกลัวว่าผู้ป่วยจะเกิดการบาดเจ็บหรือทรมาน
การดูดเสมหะผู้ป่วยนั้น ผู้ป่วยจะไม่มีอาการเจ็บหรือเจ็บน้อยมาก หากผู้ดูแลปฏิบัติตามขั้นตอนและคำแนะนำของแพทย์อย่างถูกต้องและเคร่งครัดนะคะ ซึ่งการดูดเสมหะแล้วเจ็บนั้น อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ใช้แรงในการสอดสายดูดเสมหะมากเกินไป ใช้เวลานานเกินไป ปรับแรงดันเครื่องดูดเสมหะไม่เหมาะสม ดังนั้น หากไม่อยากให้ผู้ป่วยบาดเจ็บ ผู้ดูแลจำเป็นจะต้องต้องทำอย่างระมัดระวังมากให้ที่สุดค่ะ
วิธีดูดเสมหะโดยไม่ให้ผู้ป่วยเจ็บหรือทรมาน
- เลือกขนาดของสายดูดเสมหะให้เหมาะสม โดยขนาดที่แพทย์แนะนำจะเป็นเบอร์ 14 – 16 ส่วนผู้ป่วยเจาะคอควรเลือกสายดูดเสมหะที่มีขนาดไม่เกินครึ่งหนึ่งของเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อเจาะคอ
- สอดสายดูดเสมหะให้มีความลึกที่พอดี ตามคำแนะนำของแพทย์
- เตรียมความพร้อมของผู้ป่วยก่อนดูดเสมหะ หากผู้ป่วยกังวลใจ เครียด อาจกระตุ้นให้เกิดความเจ็บปวดมากขึ้นได้ ก่อนดูดเสมหะ จึงควรทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย
- ปรับแรงดันเครื่องดูดเสมหะและใช้ระยะเวลาในการดูดเสมหะให้เหมาะสม เพราะอาจส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บเกี่ยวกับเนื้อเยื่อ ปอดแฟบ หรือปัญหาการบาดเจ็บอื่น ๆ ตามมาได้
- ปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างถูกต้องและเบามือ ระมัดระวังอย่าให้เกิดการกระแทก
วิธีการ ดูดเสมหะ ที่ถูกต้องจะช่วยให้ผู้ป่วยเจ็บน้อยลงได้นะ!
สำหรับผู้ป่วยที่แพทย์มีคำสั่งให้กลับมาดูดเสมหะเองที่บ้านนั้น อาจจะมีความยุ่งยากนิดหนึ่งนะคะ เนื่องจากต้องระมัดระวังไม่ให้ผู้ป่วยเกิดการบาดเจ็บ และเพื่อไม่ให้ผู้ดูแลสัมผัสกับเชื้อโรคขณะดูดเสมหะ จึงจำเป็นต้องมีอุปกรณ์และขั้นตอน ดังนี้ค่ะ
อุปกรณ์ที่ใช้ในการดูดเสมหะ
- เครื่องดูดเสมหะ
เครื่องดูดเสมหะ รุ่น NEW ASKIR30 มีแรงดูดสูงสุด 600 mmHg อัตราการไหล 40 ลิตร/นาที นำเข้าจากอิตาลี
- สายดูดเสมหะ (ผู้ใหญ่ใช้เบอร์ 14 – 16)
- ถุงมือตรวจโรคทั่วไป
- หน้ากากอนามัย
- สารหล่อลื่น (K-Y jelly)
- น้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุก
- ถังขยะที่มีฝาปิด
การเตรียมตัวก่อนเริ่มการดูดเสมหะ
- เตรียมอุปกรณ์ทุกอย่างให้พร้อม โดยให้อยู่ใกล้หัวเตียงเพื่อให้ง่ายต่อการดูดเสมหะ
- ใช้เครื่องวัดความดันโลหิต ตรวจเช็กค่าความดันของผู้ป่วย หากมีความดันสูงให้ผู้ป่วยผ่อนคลายลงก่อน
- อธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าจะดูดเสมหะ เพื่อขอให้ผู้ป่วยให้ความร่วมมือ และลดอาการกลัวของผู้ป่วยลง
- จัดท่าหรือปรับหัวเตียงผู้ป่วยให้เหมาะสมสำหรับการดูดเสมหะ (ศีรษะสูง 15 – 30 องศา) เพื่อป้องกันการสำลัก
- กระตุ้นให้ผู้ป่วยหายใจลึก ๆ 2-3 ครั้ง ผู้ป่วยที่หายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจ ควรให้ออกซิเจนความเข้มข้นสูง นาน 30 – 60 วินาที
- ผู้ดูแลต้องล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาด จากนั้นสวมถุงมือยางข้างที่ถนัดก่อน แล้วจึงสวมอีกข้าง และสวมหน้ากากอนามัย
- หยิบสายดูดเสมหะโดยไม่ให้สัมผัสกับสิ่งปนเปื้อน แล้วต่อเข้ากับสายจากเครื่องดูดเสมหะ
- ใช้มือข้างที่ไม่ถนัดเปิดเครื่องดูดเสมหะและปรับแรงดันให้อยู่ที่ประมาณ 80 – 120 มิลลิเมตรปรอท
- เมื่อเตรียมอุปกรณ์และความพร้อมเรียบร้อยแล้ว จึงเริ่มการดูดเสมหะได้
การดูดเสมหะด้วยวิธีต่าง ๆ
- การดูดเสมหะทางปาก
- ค่อย ๆ ใส่สายดูดเสมหะลงไปถึงโคนลิ้นช้า ๆ จนผู้ป่วยมีอาการไอ แล้วดึงสายดูดเสมหะขึ้นประมาณ 1-2 เซนติเมตร โดยระหว่างใส่ ห้ามปิดสายดูดเสมหะเด็ดขาด
- จากนั้นเริ่มการดูดเสมหะ โดยปิดสายดูดเสมหะ ไม่เกิน 10 – 15 วินาทีต่อครั้ง ควรให้หยุดพัก 20 – 30 วินาที จึงเริ่มการดูดเสมหะครั้งต่อไป
- เมื่อดูดเสมหะเสร็จแล้ว ให้นำสายดูดเสมหะดูดน้ำสะอาดที่เตรียมไว้ เพื่อล้างสิ่งสกปรก
- เมื่อล้างเสร็จแล้วให้ปลดสายที่ใช้ดูดเสมหะผู้ป่วยและถุงมือทิ้งลงถังขยะที่เตรียมไว้ ส่วนสายที่ต่อกับเครื่องให้นำกลับไปต่อที่ตัวเครื่องเหมือนเดิม จากนั้นปิดเครื่องดูดเสมหะ
- เมื่อเสร็จทุกขั้นตอนแล้ว ให้ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ทุกครั้งหลังการดูดเสมหะ
- การดูดเสมหะทางจมูก
- นำปลายสายดูดเสมหะหล่อลื่นกับสารหล่อลื่นก่อน เพื่อลดอาการบาดเจ็บ
- ค่อย ๆ ใส่สายดูดเสมหะเข้ารูจมูกช้า ๆ โดยให้สายขนานกับพื้นโพรงจมูก กระตุ้นให้ผู้ป่วยหายใจเข้าลึก ๆ เพื่อจะได้สอดสายดูดเสมหะได้ง่ายขึ้น โดยระหว่างใส่ห้ามปิดสายดูดเสมหะเด็ดขาด
- จากนั้นทำเช่นเดียวกับการดูดเสมหะทางปาก (ข้อสอง 2 – 5)
- การดูดเสมหะทางท่อเจาะคอ
- ใส่สายดูดเสมหะเข้าไปในท่อเจาะคอ ลึกประมาณ 5 -6 นิ้ว หรือจนรู้สึกว่าชนกับผนังหลอดลม ให้ขยับขึ้นมาประมาณ 1 นิ้ว โดยระหว่างใส่ห้ามปิดสายดูดเสมหะเด็ดขาด
- จากนั้นทำเช่นเดียวกับการดูดเสมหะทางปาก (ข้อสอง 2 – 5) โดยระหว่างการดูดเสมหะให้หมุนเสมหะไปรอบ ๆ ท่อเจาะคอ
การดูดเสมหะผู้ป่วยเองที่บ้าน จำเป็นจะต้องได้รับคำสั่งหรือคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรงนะคะ เพราะหากปฏิบัติไม่ถูกต้อง จะทำให้ผู้ป่วยบาดเจ็บหรืออันตรายได้
จะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อไหร่ที่ต้อง ดูดเสมหะ ผู้ป่วย
สำหรับผู้ดูแลหลายคน ไม่แน่ใจว่าต้องดูดเสมหะบ่อยแค่ไหน เมื่อไหร่ที่จำเป็นจะต้องดูดเสมหะ เพราะผู้ป่วยบางราย ไม่สามารถบอกผู้ดูแลได้ว่าต้องการให้ดูดเสมหะออกให้ บทความนี้ จึงมีวิธีสังเกตอาการของผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุง่าย ๆ มาฝากค่ะ
- หายใจแรง เร็ว และมีเสียงดัง
- ได้ยินเสียงเสมหะขณะหายใจเข้า – ออก
- สังเกตเห็นอาการเหนื่อย กระสับกระส่าย หรือซึมลง
- สีผิว เล็บ และริมฝีปาก มีสีเขียวคล้ำ
- การไอแต่ละครั้งไม่สามารถขับเสมหะออกมาได้
- ในบางรายที่ไอแล้วมีเสมหะออกมา จะสังเกตเห็นเสมหะมีลักษณะเหนียว และมีจำนวนมาก
- มีอาการอาเจียนหรือขย้อนอาหารออกมา
สำหรับผู้ป่วยที่ต้องดูดเสมหะ ควรทำอย่างน้อย 2-4 ชั่วโมง หรือทุกครั้งที่มีอาการข้างต้นนะคะ
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
สรุป
การดูดเสมหะให้ผู้ป่วยที่ไม่สามารถขับเสมหะได้เอง เป็นเรื่องที่ผู้ดูแลควรระมัดระวังเป็นอย่างมากเลยนะคะ เพราะการดูดเสมหะที่ผิดวิธีหรือทำเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายได้ ดังนั้น การปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด เป็นเรื่องที่ดีที่สุดค่ะ เพราะนอกจากจะปลอดภัยแล้ว ยังช่วยให้ผู้ป่วยบาดเจ็บหรือทรมานกับการดูดเสมหะน้อยลงได้อีกด้วยค่ะ