บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น “ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้” หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
ลองเช็กตัวเองด่วน! ตาขาวเป็นสีเหลือง หรือกลายเป็นสีอื่น ๆ ที่ผิดไปจากปกติ อีกหนึ่งภัยเงียบ ที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอันตรายและรุนแรง ซึ่งชี้ให้เห็นว่าร่างกายกำลังมีบางอย่างที่ผิดปกติไปจากเดิม นั่นหมายถึงโรคบางชนิดกำลังมาเยือนคุณ โดยความผิดปกติที่เกิดขึ้นนี้ จำเป็นที่ต้องได้รับการตรวจวินิฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และต้องได้รับการรักษาทันที ดังนั้นมาดูกันสิว่าอาการผิดปกตินี้เกิดมาจากสาเหตุใด และมีวิธีการดูแลบำรุงดวงตาอย่างไรบ้าง
สารบัญ
ตาขาวเป็นสีเหลือง สีตาขาวผิดปกติ บอกโรคอะไร?
การเกิดความผิดปกติขึ้นในร่างกาย อาจเป็นภัยเงียบที่รอเวลาให้ภูมิคุ้มกันของเราอ่อนแรงลงก่อนถึงจะแสดงอาการออกมา ซึ่งแน่นอนว่ากว่าเราจะรู้ ร่างกายของเราก็ถูกกัดกินไปแล้วเกือบครึ่งหนึ่ง อวัยวะที่ทำให้เราสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายที่สุด ไม่ใช่อื่นไกลที่ไหน นั่นก็คือ ดวงตาของเรา ที่สามารถบ่งบอกการเกิดโรคบางอย่างได้ โดยอาการผิดปกติที่แสดงผ่านดวงตา สามารถบอกโรคได้ ดังนี้
1. ตาขาวเป็นสีเหลือง
เป็นอาการของโรคดีซ่าน การทำงานของตับและท่อน้ำดีผิดปกติ สีเหลืองเกิดจาก มีการสะสมของสารบิลิรูบินอยู่มากเกินไป ใครที่มีอาการตาเหลือง อ่อนเพลียร่วมด้วย สามารถตั้งข้อสันนิษฐานได้เลยว่าเป็นดีซ่าน หรือตาเหลืองโรคตับ ดังนั้นจะต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างเร็วที่สุด
2. ตาขาวแดงเป็นเส้นเลือด
หากใครที่เห็นเส้นเลือดผุดขึ้นมาในตาขาว บ่งบอกถึงว่าผู้ป่วยกำลังมีอาการของเส้นเลือดฝอยในตาแตก ซึ่งมีสาเหตุมาจาก การเป็นโรคเบาหวาน โรคการแข็งตัวของเลือดที่ผิดปกติ หรือโรคความดันโลหิตสูง ในผู้ป่วยบางคนอาจแค่ไอหรือจามอย่างรุนแรง รวมถึงขยี้ตาบ่อยจนเกินไปก็เป็นได้ โดยอาการแดงจะหายเองใน 2-3 สัปดาห์ แต่สามารถประคบเย็นและหยดน้ำตาเทียม เพื่อลดอาการปวดที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้
3. ตาขาวมีจุดสีเหลือง
สำหรับตาขาวที่มีจุดเหลือง บ่งบอกได้เลยว่าคุณกำลังเผชิญปัญหาเกี่ยวกับต้อลม มีสาเหตุมาจากการถูกรังสีอัลตร้าวโอเลตมาเป็นเวลานาน ในผู้ป่วยบางรายอาจลุกลามไปเป็นต้อเนื้อได้
4. ตาขาวแดงแต่ไม่เจ็บ
ลักษณะอาการแบบนี้มักไม่เป็นอันตราย ซึ่งอาจเป็นอาการของโรคต้อหิน ต้อลม ภูมิแพ้ และการติดเชื้อไวรัสที่ไม่รุนแรง ทั้งนี้ต้องได้รับการดูแลจากจักษุแพทย์เพื่อให้ไม่เกิดการลุกลามไปยังส่วนอื่นๆ และรักษาให้หายเป็นปกติโดยเร็ว
5. ตาขาวเป็นสีฟ้า
ปัจจุบันยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่ชัดเจน แต่ส่วนใหญ่มักพบในผู้ป่วยโรคกระดูกเปราะ และมีรายงานพบในผู้ป่วยโควิด-19 ที่กินยาฟาวิพิราเวียร์ ดังนั้น หากมีอาการแบบนี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจให้แน่ชัดว่าเป็นอะไรกันแน่
6. ตาดำมีสีขาวขุ่น
เป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ หรือที่เรียกกันอีกอย่างว่าภาวะต้อกระจก เกิดจากเลนส์ตาขุ่นทำให้แสงผ่านเลนส์ตาไปยังจอประสาทตาน้อยลง ทำให้การมองเห็นลดลง มีอาการตามัวมากขึ้น หากเริ่มสังเกตเห็นว่าที่ตาดำมีสีขาวหรือขุ่น ควรรีบไปปรึกษาจักษุแพทย์ทันที
7. ตาดำมีสีเขียว
อาการนี้มักเกิดกับคนที่มีภาวะต้อหินแต่กำเนิด โดยการมองเห็นจะไม่พร่ามัวเหมือนต้อกระจก แต่เป็นภาวะที่เกิดจากความดันภายในลูกตาสูงผิดปกติ หรือใยประสาทตา ขั้วประสาทตาถูกทำลาย ทำให้ลานสายตาแคบลงโดยไม่รู้ตัว หากไม่ทำการรักษา ประสาทตาจะถูกทำลายไปเรื่อย ๆ ส่งผลให้ตาบอดในที่สุด
8. ผิวหนังรอบดวงตามีสีดำคล้ำ
เกิดจากภูมิแพ้ ไซนัสหรือโพรงจมูกอักเสบ ที่มักทำให้รู้สึกคันบริเวณรอบดวงตา จนเกิดการการขยี้ ซึ่งจะทำให้เปลือกตาบริเวณรอบๆ มีอาการช้ำ และเห็นเป็นสีดำคล้ำได้
บำรุงดวงตาอย่างไรให้สดใสแข็งแรง
ดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่อยู่กับเราตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งวันตาย เป็นส่วนที่มีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต การประกอบกิจกรรมต่างๆ ตลอด 24 ชั่วโมง หากดวงตาที่ผิดปกติ ไม่ได้เกิดมาจากโรคร้าย สำหรับใครที่อยากดูแลดวงตาให้แข็งแรง เรามีวิธีบำรุงรักษาดวงตาให้ดูสดใส แข็งแรง และเสื่อมสภาพช้าลงมาฝากกันค่ะ
1. สวมแว่นกันแดดในการทำกิจกรรมกลางแจ้ง
แว่นกันแดดเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เมื่อคุณต้องออกจากที่ร่ม เพราะคุณสมบัติที่สำคัญคือช่วยกันยูวีจากแสงแดด ไม่ให้กระทบดวงตาของเราโดยตรง จึงช่วยลดการเกิดต้อกระจก ต้อลม และต้อหินได้
2. หยดน้ำตาเทียม
การเกิดเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมาในแต่ละปี ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจะไม่กระทบดวงตาของเรา โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ไอแพด และอื่นๆ อีกมากมายซึ่งล้วนปล่อยแสงสีฟ้าที่ทำลายจอประสาทตาให้เสื่อมเร็วขึ้น และทำให้ตาแห้งอีกด้วย ดังนั้นการหมั่นหยดน้ำตาเทียม เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น หรือพักสายตาบ่อยๆ จะช่วยให้อาการระคายเคืองลดลงได้
3. แว่นตากรองแสงสีฟ้าช่วยปกป้องดวงตา
นอกจากแว่นกันแดดที่จำเป็นต้องใส่เมื่ออยู่กลางแจ้ง แว่นตากรองแสงก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ต้องติดไว้เมื่อจ้องหน้าคอมเป็นเวลานานๆ เพื่อลดอาการเหนื่อยล้า และการทำลายจากแสงสีฟ้าต่อดวงตาลง
4. บำรุงจากภายในสู่ภายนอก
คุณสามารถบำรุงสายตาจากภายในได้ ด้วยการรับประทานอาหารที่มีสรรพคุณบำรุงสายตา อาทิเช่น ผลไม้สีส้ม สีแดง เพราะมีสารแคโรทีนอยด์ และสารต้านอนุมูลอิสระอยู่มาก นอกจากนี้ก็อาจจะทานวิตามินซี หรือวิตามินเอเสริมด้วยก็ได้
5. การรับประทานอาหารเฉพาะกลุ่ม
ในกรณีผู้ป่วยโรคตับที่มีอาการตาขาวเป็นสีเหลือง ควรรับประทานอาหารในกลุ่มที่ช่วยบำรุงตับให้แข็งแรง ตัวอย่างเช่น แครอท กะหล่ำปลี องุ่น บล็อกโคลี และธัญพืช เป็นต้น
6. ปรับและลดพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อดวงตา
ตัวอย่างเช่น การปิดไฟเล่นโทรศัพท์ แสงสีฟ้าจากหน้าจอโทรศัพท์จะส่งผลให้รูม่านตาขยายตัวมากขึ้น ทำให้ในระยะยาวการมองเห็นจะไม่คมชัดเหมือนเดิม สายตาจะสั้นขึ้นอย่างรวดเร็ว และเพิ่มโอกาสเป็นโรคต้อหิน และอันตรายที่สุด คือจอประสาทตาอาจถูกทำลายได้ รวมถึงการขยี้ตาบ่อยๆ และการสัมผัสดวงตาโดยไม่ล้างมือ อาจนำไปสู่การติดเชื้อต่างๆ ได้เช่นกัน
7. หมั่นตรวจเช็กสุขภาพของดวงตา
สำหรับคนอายุน้อย ควรตรวจเป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้ง แต่สำหรับผู้สูงวัย ควรเพิ่มความถี่ขึ้นมา เพราะร่างกายมีความเสื่อมสภาพลงไป จึงมีความเสี่ยงเกิดความผิดปกติได้มากกว่านั่นเอง
โรคตาในผู้สูงอายุ อุปสรรคในการใช้ชีวิตที่อาจนำมาซึ่งการสูญเสียการมองเห็น!สรุป
ดวงตาเป็นสิ่งที่สะท้อนทั้งภายในและภายนอกร่างกายของเราได้เป็นอย่างดี สำหรับคนรักสุขภาพ จะสังเกตุได้ว่าดวงตาจะเป็นประกาย มีความสดใสและสวยงาม ซึ่งแตกต่างจากคนที่ใช้ร่างกายหนักหน่วงเกินไป อาจทำให้สีตาและขอบตามีสีไม่พึงประสงค์ เช่น ตาขาวเป็นสีเหลือง ตาเป็นสีแดง เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นปัญหาในการใช้ชีวิตได้ในภายหลัง ดังนั้น หมั่นสังเกตสุขภาพดวงตาและสุขภาพกายอย่างสม่ำเสมอนะคะ