โรคไข้หูดับ แค่จับเนื้อหมูก็อาจตายได้! อาการเป็นอย่างไร มาเช็กกัน!

โรคไข้หูดับ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

         หลังจากที่มีการพบหญิงวัย 49 ปี เสียชีวิตเนื่องจากเป็น โรคไข้หูดับ ซึ่งเหตุการณ์นี้สร้างความหวาดกลัวให้กับใครหลาย ๆ คน จนไม่กล้ากินหรือสัมผัสเนื้อหมูไปเลย แต่กับบางคนอาจจะเพิ่งเคยได้ยินชื่อโรคนี้เป็นครั้งแรก บทความนี้จึงอยากจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับโรคไข้หูดับให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้ป้องกันไม่ให้ภัยร้ายนี้ เกิดขึ้นกับคุณโดยไม่รู้ตัวค่ะ

สารบัญ

โรคไข้หูดับ เกิดจากอะไร?

         โรคไข้หูดับ คือ โรคติดต่อจากสัตว์สู่คนชนิดหนึ่ง (Zoonotic infectious disease) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า “สเตรฟโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus Suis)” ที่อาศัยอยู่ในหมูเกือบทุกตัว เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ ซึ่งเดิมทีเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดโรค แต่หากหมูเกิดมีอาการป่วยหรือร่างกายอ่อนแอขึ้นมา เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะค่อย ๆ เพิ่มจำนวน จนทำให้หมูป่วยและตาย ซึ่งหากมนุษย์ได้ไปรับเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกาย ก็จะเกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตเช่นกัน

โรคไข้หูดับ

เชื้อแบคทีเรียสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส สามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้ 2 ทาง คือ

  1. การกินเนื้อหรือเลือดของหมูดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ เช่น ลาบหมูดิบ หลู้ เนื้อหมูที่ย่างไม่สุก
  2. เชื้อผ่านเข้ามาทางบาดแผล รอยถลอก เยื่อบุตา จากการสัมผัสกับเชื้อโดยตรงหรือหมูที่ติดเชื้อ

         สาเหตุที่เรียกโรคไข้หูดับนั้น เพราะอาการเด่นของโรคนี้คือการมีไข้สูง และมีภาวะสูญเสียการได้ยิน หรือหูดับนั่นเอง โดยโรคไข้หูดับนี้ ถูกพบครั้งแรกที่ประเทศเดนมาร์ก ในปี พ.ศ. 2511 หลังจากนั้นก็พบผู้ป่วยติดเชื้อนี้จํานวนเพิ่มขึ้นในอีกหลายประเทศ ซึ่งในปี พ.ศ.2548 ได้มีการระบาดของโรคไข้หูดับครั้งใหญ่ในประเทศจีน มีผู้ป่วยติดเชื้อจํานวนกว่า 215 ราย เสียชีวิต 38 ราย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ล้วนมีประวัติการสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ

         ในประเทศไทยเอง พบโรคนี้ครั้งแรกในปี พ.ศ.2530 จากผลการสํารวจของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปี 2561 พบว่ามีการติดเชื้อกระจายเกือบทุกภาค โดยเฉพาะภาคเหนือ เนื่องจากมักทำอาชีพเลี้ยงหมูและทานเมนูอาหารพื้นบ้านที่เป็นของดิบ อีกทั้งโรคนี้ ยังสามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ พบอายุน้อยที่สุดคือเด็กอายุ 1 เดือน ซึ่งกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากมักจะเป็นกลุ่มดังนี้

โรคไข้หูดับ

กลุ่มเสี่ยงโรคไข้หูดับ

  • ผู้ติดสุราเรื้อรัง จะทำให้ร่างกายอ่อนแอติดเชื้อได้ง่าย รวมทั้งพบว่าในขณะดื่มสุรามักชอบทานของแกล้มที่เป็นเมนูอาหารดิบ
  • มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ
  • เคยตัดม้ามออก หากติดเชื้อจะมีอาการป่วยรุนแรง เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคต่ำ
  • มีอาชีพเกี่ยวกับการเลี้ยงหมู หรือต้องใกล้ชิดกับหมู ร่วมทั้งผู้ที่ทานเนื้อหมูสุก ๆ ดิบ ๆ เป็นประจำ
เครื่องตรวจระดับน้ำตาล ตรวจเบาหวาน

อาการของ โรคไข้หูดับ น่ากลัวแค่ไหน?

         หลังจากที่ได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย เชื้อแบคทีเรียสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส จะมีระยะฟักตัวประมาณ 1 – 14 วัน แต่จากการสำรวจมักพบว่า อาการผิดปกติจะเริ่มแสดงหลังจากรับเชื้อไม่เกิน 3 วัน โดยจะมีอาการขั้นต้นที่พบได้บ่อย ดังนี้

ไข้หูดับ อาการ

  • มีไข้สูงเฉียบพลัน
  • ปวดเมื่อยตามเนื้อตัวและข้อ
  • ปวดและเวียนศีรษะ รู้สึกอยากอาเจียน
  • มีจ้ำเลือดตามตัวและผิวหนัง
  • มีอาการซึม คอแข็ง อาจรุนแรงถึงขั้นชัก

         ซึ่งหากผู้ป่วยไม่ได้ทำการรักษา จะทำให้เชื้อแบคทีเรียนี้เข้าสู่เยื่อหุ้มสมอง ประสาทหูชั้นในทั้งสองข้าง และกระแสเลือด จนทำให้เกิดอาการที่รุนแรง

  • เยื่อหุ้มสมอง หัวใจ ข้อ และม่านตา เกิดการอักเสบ
  • เกิดหนองบริเวณปลายประสาทรับเสียง และปลายประสาททรงตัว
  • เกิดอาการหูตึงหรือหูดับ จนกระทั่งกลายเป็นโรคหูหนวก

         อีกทั้ง หากปล่อยให้เชื้อแบคทีเรียสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส ลุกลาม จะทำให้อาการค่อย ๆ ทวีความรุนแรง จนนำไปสู่การเสียชีวิตจากภาวะ toxic shock syndrome (ภาวะช็อกจากการได้รับพิษจากเชื้อแบคทีเรีย) และการติดเชื้อในกระแสเลือด ส่วนผู้ป่วยบางรายที่ไม่เสียชีวิตส่วนใหญ่ก็จะพบกับความพิการตามมา เช่น หูหนวก สูญเสียการทรงตัว กล้ามเนื้ออ่อนแรง อัมพฤกษ์-อัมพาต ตาบอด

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย


ป้องกันตนเองอย่างไรไม่ให้ โรคไข้หูดับ มาเยือน

         โรคไข้หูดับนั้น มักมีสาเหตุมาจากการกินหรือสัมผัสกับเนื้อหมู ดังนั้นวิธีการป้องกันโรคไข้หูดับได้ดีที่สุด คือการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับหมู ทั้งผู้บริโภคและผู้ที่ทำอาชีพเกี่ยวกับหมู (ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรคและโรงพยาบาลสินแพทย์)

ไข้หูดับ เกิดจาก

  • สำหรับผู้ที่มีอาชีพเลี้ยงหมู หรือทำงานใกล้ชิดกับหมู ควรสวมรองเท้าบูทยาง ถุงมือ และเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน ทำการกำจัดเชื้อในฟาร์มตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้หมูเกิดการป่วยและลามไปทั่วทั้งฟาร์ม
  • ไม่ควรกินหมูที่ป่วยหรือตายจากโรค โดยพยายามเลือกซื้อเนื้อหมูที่ไม่มีกลิ่นคาวหรือสีคล้ำ และควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากร้านที่ผลิตจากแหล่งที่ได้มาตรฐาน ผ่านการตรวจสอบจากกรมปศุสัตว์
  • ล้างมือก่อนและหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง หากผู้ปรุงอาหารมีบาดแผลที่ผิวหนัง ต้องทำการปิดแผลให้มิดชิด และควรสวมถุงมือด้วย
  • หลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้ออาหารดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ โดยเฉพาะเนื้อหมู ควรปรุงด้วยความร้อนที่อุณหภูมิตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียส นานอย่างน้อย 10 นาที หรือปรุงสุกจนไม่มีสีแดงหรือเลือดที่ชิ้นเนื้อ
  • แยกอุปกรณ์ที่ใช้หยิบเนื้อหมูสุกและดิบออกจากกัน นอกจากจะเป็นการป้องกันโรคไข้หูดับแล้วยังเป็นการป้องกันโรคโควิด-19 ได้อีกด้วย
วิธีป้องกันโควิด-19 ทำตามได้ง่าย ๆ และป้องกันการติดเชื้อ Covid-19 ได้จริง!!! อ่านเลย

สรุป

         โรคไข้หูดับ เป็นอีกหนึ่งภัยเงียบที่อาจเกิดขึ้นได้โดยที่เราไม่รู้ตัว เพราะบางครั้งตามผิวหนังเราอาจเกิดบาดแผลเล็ก ๆ ที่มองไม่เห็น ซึ่งหากเผลอไปสัมผัสเนื้อหมูที่ติดเชื้อ อาจทำให้ป่วยเป็นโรคไข้หูดับได้ รวมทั้งการกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ที่อาจเป็นอาหารจานโปรดของใครหลาย ๆ คน แต่อาจจะมีเชื้อโรคที่เราไม่สามารถมองเห็นได้แฝงอยู่ ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการกินเมนูดิบเหล่านี้ เพราะไม่อาจจะเป็นแค่โรคไข้หูดับ แต่โรคร้ายอื่น ๆ ก็อาจมาเยือนคุณได้

Website ของเรามีการเก็บ cookies เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ... อ่านเพิ่มเติม นโยบายคุกกี้

Close Popup