Telemedicine คืออะไร? ตัวเลือกที่น่าสนใจตอบโจทย์ผู้ป่วยในยุค 4.0

Telemedicine คือ

         เคยไหมคะ? ปวดหัว ตัวร้อน ไม่สบาย หรือมีโรคประจำตัว อยากปรึกษาอาการกับคุณหมอ แต่ไปโรงพยาบาลทีก็รอคิวจนหมดไปครึ่งวัน รักษาจริงแค่ไม่กี่นาที เสียทั้งเวลาเสียทั้งค่าเดินทาง แถมช่วงสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 แบบนี้ แค่ก้าวขาออกจากบ้านก็เสี่ยงแล้ว แต่ไม่ต้องกังวลใจไปนะคะ ในยุค 4.0 แบบนี้ เราสามารถไปหาคุณหมอแบบ Telemedicine ได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องออกจากบ้าน หลายคนเริ่มสงสัยแล้วใช่ไหมล่ะคะว่า Telemedicine คือ อะไร? ใช้งานอย่างไร? ไปหาคำตอบในบทความนี้เลยค่ะ

Telemedicine คือ

สารบัญ

Telemedicine คือ อะไร?

         เคยไหมคะ? เวลามีอาการป่วย จนรู้สึกกังวลใจว่าป่วยเป็นอะไร พอลองเอาอาการป่วยไปเสิร์ชหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต หาไปหามา อาการเหมือนป่วยเป็นโรคร้ายซะงั้น เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเราป่วยเป็นโรคนั้น ๆ จริงหรือเปล่า? วิธีที่ดีที่สุด คือการได้รับคำปรึกษาจากโดยตรงจากแพทย์ค่ะ แต่บางคนก็ไม่อยากไปโรงพยาบาล หรือไม่มีเวลามากพอที่จะไป ปัญหาเหล่านี้ จะหมดไปด้วยเทคโนโลยีหนึ่งที่ชื่อว่า Telemedicine ค่ะ

Telemedicine คือ

         Telemedicine คือ การให้บริการด้านสาธารณสุขกับประชาชน โดยบุคลากรทางการแพทย์ ผ่านทางเทคโนโลยีและการสื่อสารแบบ Video conference เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันโรค โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ ซึ่งในภาษาไทยจะเรียกว่า โทรเวชกรรม หรือระบบแพทย์ทางไกล

         เดิมทีเทคโนโลยีการรักษาแบบ Telemedicine เกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่ปัจจุบัน หลายโรงพยาบาลในประเทศไทยก็ค่อย ๆ เริ่มนำมาปรับใช้กับการรักษา โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของไวรัส COVID-19 ยิ่งกระตุ้นให้โรงพยาบาลหันมาใช้วิธีการรักษาแบบ Telemedicine เพื่อให้ตอบโจทย์ต่อการรักษาในช่วงเวลาเหล่านี้มากยิ่งขึ้น เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในเรื่องของการเดินทาง ประหยัดเวลาในการรอคิว ลดโอกาสที่ผู้ป่วยต้องออกจากบ้าน และลดจำนวนคนภายในโรงพยาบาล

Telemedicine

ประโยชน์ของการรักษาแบบ Telemedicine

  • ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ไกลโรงพยาบาล
  • สามารถเข้าถึงการตรวจรักษาและวินิจฉัยจากแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว
  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวสามารถติดตามการรักษาได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องมาโรงพยาบาลบ่อย ๆ
  • ช่วยให้ผู้ป่วยลดระยะเวลาในการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
  • เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาทางการแพทย์ สามารถแลกเปลี่ยนความรู้และคำแนะนำจากแพทย์ได้โดยตรง
  • จัดเก็บข้อมูลการรักษาอย่างเป็นระบบ

ในปัจจุบัน Telemedicine เป็นที่นิยมในการดูแลรักษาโรคต่าง ๆ โดยการปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับอาการเจ็บป่วย ซึ่งเป็นอาการเบื้องต้นที่ไม่รุนแรง เช่น เป็นไข้ ปวดท้อง ปวดหัว เป็นผื่นคัน หรือสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ต้องการปรึกษาหรือติดตามผลการรักษา เช่น โรคความดัน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน

Telemedicine กับ Telehealth ต่างกันหรือไม่?

         บางคนอาจจะเคยได้ยินชื่อ Telehealth มาบ้าง แล้วสงสัยว่าเหมือนกับ Telemedicine หรือไม่? จริง ๆ แล้ว Telemedicine กับ Telehealth ไม่ได้เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงนะคะ

telehealth

         Telehealth เป็นชื่อเรียกของระบบที่นำเทคโนโลยีการสื่อสารรูปแบบต่าง ๆ มาใช้ในการบริการด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารระหว่างแพทย์ถึงแพทย์ การให้คำปรึกษาระหว่างแพทย์กับคนไข้ การที่พยาบาลในพื้นที่ห่างไกลปรึกษาแพทย์ การให้ความรู้เรื่องยาจากเภสัชกรสู่ประชาชน ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากระบบ Telehealth ที่ถูกนำไปพัฒนา ต่อยอด และแตกแขนงออกมาเป็นระบบอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น

  • Telemedicine เป็นระบบที่แพทย์ผู้ป่วยสามารถตรวจวินิจฉัยและรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้โดยตรง เกี่ยวกับอาการป่วยเบื้องต้นที่ไม่รุนแรง หรือติดตามผลการรักษาโรคประจำตัว ผ่านการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารอย่าง Video conference
  • Teletriage เป็นระบบที่ใช้คัดกรองผู้ป่วยก่อนจะเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาล ด้วยการตอบแบบสอบถาม ประเมินความเสี่ยงผ่านทาง Video call หรือรูปแบบอื่น ๆ ซึ่งในกรณีที่ไม่มีความเสี่ยง แพทย์ก็จะแนะนำให้ผู้ป่วยไม่ต้องมาที่โรงพยาบาล แต่หากมีความเสี่ยงสูง แพทย์ก็จะเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อม ก่อนพบผู้ป่วยได้

         ดังนั้น Telemedicine ก็คือส่วนหนึ่งที่แตกแขนงออกมาจากระบบ Telehealth นั่นเอง ซึ่งนอกจาก Telemedicine Teletriage ก็ยังมีระบบอื่น ๆ ที่แตกแขนงออกไปอีกมากมาย แต่ปัจจุบันในไทยที่นิยมและถูกนำมาใช้งานในปัจจุบันมากที่สุด คือ Telemedicine 

เครื่องตรวจระดับน้ำตาล ตรวจเบาหวาน

Telemedicine สามารถใช้งานอะไรได้บ้าง?

         Telemedicine มีหลายรูปแบบเลยค่ะ ไม่ใช่แค่เพียงรับคำปรึกษาจากแพทย์อย่างเดียวเท่านั้นนะคะ เรามาดูกันว่า เทคโนโลยี Telemedicine นี้สามารถทำอะไรได้บ้าง?

Telemedicine ในประเทศไทย

  1. ให้คำปรึกษา โดยผู้เชี่ยวชาญ สามารถวินิจฉัยสุขภาพโดยการพูดคุย และสอบถามอาการผู้ป่วย ผ่าน Video conference เพื่อใช้ประกอบการวินิจฉัย
  2. เฝ้าระวัง สุขภาพที่บ้าน โดยการนำอุปกรณ์ตรวจวัดต่าง ๆ ไปติดตั้งที่บ้าน เพื่อวัดและเก็บข้อมูลสัญญาณชีพ ถ้าสัญญาณชีพที่ส่งมามีความผิดปกติ ผู้เชี่ยวชาญจะแจ้งให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาทันที
  3. ให้ข้อมูลสุขภาพ หรือให้คำปรึกษาโรค โดยผู้ใช้สามารถสืบค้นข้อมูลโดยผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ หรือปรึกษาออนไลน์กับผู้เชี่ยวชาญได้
  4. เรียนรู้ทางการแพทย์ โดยระบบจะทำหน้าที่รวบรวมความรู้ ให้ผู้ใช้สืบค้นข้อมูลหรือเผยแพร่ข้อมูลความรู้ได้ ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้และเผยแพร่ความรู้ให้กับแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ 

         ในปัจจุบันก็มีหลายโรงพยาบาลและหลายแอปพลิเคชั่น ที่นำระบบ Telemedicine มาใช้ เช่น

ระบบแพทย์ทางไกล

โรงพยาบาล

  • โรงพยาบาลสมิติเวช ให้บริการ Telemedicine ผ่านแอพพลิเคชั่น Samitivej Plus ,เว็บไซต์สมิติเวชออนไลน์ และไลน์ @Samitivej โดยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ สามารถพูดคุยตอบโต้กันได้แบบ Real-time ได้ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 15 นาที/500 บาท
  • โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ทำแอปพลิเคชั่นที่ชื่อว่า “Raksa-ป่วยทัก รักษา” บริการให้คำปรึกษาทางด้านสุขภาพจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยคิดค่าบริการ 2 รูปแบบ คือ โทรศัพท์หรือ video call ค่าใช้จ่ายประมาณ 15 นาที/ ราคา 300 – 500 บาท อีกรูปแบบคือแชท ค่าใช้จ่ายประมาณ 200 บาท/ครั้ง
  • โรงพยาบาลอ่าวลึก จังหวัดกระบี่ เป็นระบบ Video conference ผ่านสัญญาณโทรศัพท์และระบบอินเทอร์เน็ตของการสื่อสารแห่งประเทศไทยในการส่งข้อมูลผู้ป่วย
  • โรงพยาบาลแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ใช้ระบบ Video conference ผ่านดาวเทียม

คลินิก ออนไลน์

ตัวอย่างแอปพลิเคชั่น See Doctor Now 

แอปพลิเคชั่นอื่น ๆ

  • See Doctor Now
  • หมอรู้จักคุณ
  • ChiiWii
  • Ooca
  • Raksa
  • Doctor Anywhere Thailand

สรุป

         Telemedicine เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยในการรักษาพยาบาล ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับคำปรึกษาและคำวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ทำให้ทราบผลลัพธ์ของอาการป่วยได้แม่นยำมากขึ้น ดีกว่าศึกษาและกังวลใจไปเองนะคะ นอกจากนี้ยังช่วยประหยัดทั้งเวลา และค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แบบนี้ ไม่ต้องออกจากบ้านมาเสี่ยงเลยล่ะค่ะ แต่หากมีอาการที่รุนแรงมาก ๆ ก็จำเป็นจะต้องมาโรงพยาบาลด้วยตนเองจะดีที่สุดนะคะ

ใส่ความเห็น

Website ของเรามีการเก็บ cookies เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ... อ่านเพิ่มเติม นโยบายคุกกี้

Close Popup