บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว อุณหภูมิก็จะค่อย ๆ ลดต่ำลง หลายคนคงดีใจที่ได้สัมผัสกับอากาศเย็น ๆ แต่น่าเสียดาย ที่อากาศเย็นแบบนี้ กลับสร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้สูงอายุไม่น้อย แถมยังนำพาโรคในผู้สูงอายุต่าง ๆ ตามมาอีก ผู้สูงอายุหลายคน คงหมดสนุกที่จะได้ไปเที่ยวช่วงฤดูหนาวแบบนี้ใช่ไหมคะ แต่ไม่ต้องกังวลใจไปค่ะ โรคเหล่านี้สามารถป้องกันได้นะคะ เราไปดูกันว่า โรคหน้าหนาว มีอะไรบ้างที่ควรระวัง พร้อมทั้งมีวิธีรับมือกับโรคเหล่านี้ง่าย ๆ มาฝากกันค่ะ
สารบัญ
โรคหน้าหนาว ที่ผู้สูงอายุควรระวัง
เข้าสู่ช่วงปลายปี ผู้สูงอายุหลายคน คงมีแพลนไปเที่ยวต้อนรับหน้าหนาวกับครอบครัว แต่ก็ต้องระวังไว้นะคะ เพราะด้วยร่างกายที่เสื่อมถอยตามอายุ ผู้สูงอายุจึงเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงกับโรคหน้าหนาวมากที่สุด มาดูกันว่าโรคที่ต้องระวังนั้นมีอะไรบ้าง
1.โรคติดต่อทางการหายใจ ฤดูหนาวเป็นช่วงที่อุณหภูมิลดต่ำลง ความกดอากาศสูงขึ้น จึงทำให้เชื้อโรคและฝุ่นต่าง ๆ ไม่ได้ระบายออก แล้วสะสมตัวลอยอยู่ในอากาศรอบ ๆ ตัว ส่งผลให้เกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ อีกทั้งยังมีโอกาสติดต่อและแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายมาก ซึ่งผู้สูงอายุที่มีร่างกายไม่แข็งแรง จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ป่วยเป็นโรคติดต่อเหล่านี้ได้ง่าย เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบหรือติดเชื้อ
- วิธีการป้องกัน : หลีกเลี่ยงสถานที่ที่ระบายอากาศไม่ดีหรือมีอากาศเย็นมาก หากจำเป็นต้องออกข้างนอก ควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง และล้างมือบ่อย ๆ เพื่อลดการได้รับเชื้อโรคจากผู้อื่น และที่สำคัญ ควรงดสูบบุหรี่เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงในการได้รับเชื้อ นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละครั้งได้ผลดี โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคเบาหวาน และผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เช่น ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม โรคอัมพฤกษ์ – อัมพาต
นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคหอบหืด ยังสามารถใช้เครื่องพ่นละอองยา เพื่อช่วยในการขยายหลอดลม ช่วยให้หายใจสะดวกมากยิ่งขึ้น
2.ปัญหาเรื่องผิวหนัง เนื่องจากผู้สูงอายุมีไขมันใต้ผิวหนังน้อย อีกทั้งต่อมไขมันยังทำงานได้ลดน้อยลง จึงมีโอกาสที่ผิวหนังสูญเสียความชุ่มชื้นได้ง่าย โดยเฉพาะในฤดูหนาวที่มีอากาศแห้ง และมีความชื้นน้อย ยิ่งอากาศหนาว ผู้สูงอายุก็ต้องอาบน้ำอุ่น ซึ่งน้ำอุ่นจะชะล้างไขมันที่ผิวหนังออกไป ยิ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพผิวหนังมากขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหา ผิวแห้ง ผื่นผิวหนังอักเสบ และมีอาการคัน
- วิธีป้องกัน : ผู้สูงอายุควรทำให้ร่างกายอบอุ่นอยู่ตลอดเวลา ด้วยการใส่เสื้อผ้าหนา ๆ และไม่ควรอาบน้ำนาน ๆ หลังจากอาบน้ำควรทาโลชั่นหรือน้ำมันทาผิว เพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนัง หากริมฝีปากแตก ไม่ควรเลียริมฝีปาก แนะนำให้ทาด้วยลิปมันบ่อย ๆ
3.โรคในระบบไหลเวียนเลือด ในช่วงที่อากาศเย็น ผู้สูงอายุหลายคนมักจะไม่ค่อยอยากออกกำลังกาย หากในช่วงนั้น ผู้สูงอายุไม่ควบคุมการทานอาหาร ทานแต่อาหารที่มีไขมันสูง จะทำให้หัวใจทำงานหนัก กล้ามเนื้อหัวใจมีความต้องการออกซิเจนเพิ่มมากขึ้น ยิ่งโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบไหลเวียนเลือดอยู่แล้ว เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมอง จะยิ่งทำให้โรคประจำตัวเหล่านี้รุนแรงขึ้นได้ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว ความดันโลหิตอาจจะยิ่งสูงขึ้นในฤดูหนาวอีกด้วย
- วิธีป้องกัน : ผู้สูงอายุควรระมัดระวังเรื่องอาหารการกิน ควรทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะการออกกำลังกายจะช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ลดอาการหนาวลงได้ นอกจากนี้ หากรู้สึกว่าโรคประจำตัวมีอาการรุนแรงขึ้น ให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที
4.ภาวะอุณหภูมิของร่างกายลดลงผิดปกติ ประสาทรับรู้อากาศที่ผิวหนังของผู้สูงอายุมีความไวลดลงตามอายุ เมื่อผู้สูงอายุเจออากาศหนาว ร่างกายจึงไม่ค่อยตอบสนองด้วยการหนาวสั่น หรือการหดตัวของกล้ามเนื้อ เพื่อให้เกิดความอบอุ่นได้ดีเหมือนเคย อีกทั้ง ระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมหลอดเลือดที่ผิวหนัง ไม่ให้สูญเสียความร้อนจากร่างกาย ก็เสื่อมสภาพลงเช่นกัน จึงส่งผลให้อุณหภูมิภายในร่างกายของผู้สูงอายุ ลดลงมากผิดปกติ
- วิธีป้องกัน : เมื่ออากาศเย็นลง ผู้สูงอายุควรทำร่างกายให้อบอุ่นไว้ก่อน แม้จะไม่ได้รู้สึกหนาวมาก ควรสวมเสื้อผ้าหนา ๆ ห่มผ้า และหลีกเลี่ยงการเปิดแอร์ตอนนอน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่บริเวณภาคเหนือหรือพื้นที่ชนบทที่มีป่าเยอะ เพราะเป็นบริเวณที่มีอากาศหนาวเย็นมากกว่าปกติ
5.โรคที่เกี่ยวกับกระดูกและข้อ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่พบกับปัญหาเจ็บปวดบริเวณกระดูกและข้อเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งในช่วงฤดูหนาว อากาศเย็นจะกระตุ้นให้ปวดมากขึ้น หรืออาจเป็นโรคข้ออักเสบได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคเกี่ยวกับข้อเรื้อรังอยู่แล้ว เช่น โรคเกาต์ ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ
- วิธีป้องกัน : รักษาให้ร่างกายอบอุ่น พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะกระตุ้นให้ปวดบริเวณข้อและกระดูก เช่น ยกของหนัก นั่งพับเพียบ แนะนำให้บริหารร่างกายเบา ๆ เพื่อทำให้ข้อแข็งแรง และข้อไม่ติด หากมีอาการปวดให้ทายาแก้ปวดเพื่อบรรเทา แต่หากมีอาการรุนแรงขึ้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ทันที
7 วิธีรับมือกับ โรคหน้าหนาว ง่าย ๆ ทำได้ทุกวัน
ในช่วงนี้ ประเทศไทยประสบกับปัญหาสุขภาพมากมาย ทั้งสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย ไหนจะการกลับมาระบาดอีกครั้งของฝุ่นพิษอย่าง PM 2.5 อีก มาช่วงฤดูหนาวแบบนี้ ยังหอบโรคภัยไข้เจ็บตามมาอีกมากมาย ปัญหาเหล่านี้ ไม่มีใครสามารถห้ามไม่ได้เกิดขึ้นได้นะคะ แต่เราสามารถป้องกันไม่ให้ทำร้ายเราได้ ด้วยวิธีง่าย ๆ สามารถนำไปดูแลสุขภาพผู้สูงอายุหน้าหนาวได้ ดังนี้ค่ะ
- ดูแลร่างกายให้อบอุ่น เป็นวิธีป้องกันโรคที่มากับหน้าหนาวที่ดีที่สุด โดยเฉพาะกับผู้ที่มีปัญหาปวดข้อและกระดูกเรื้อรัง
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง
- แม้ว่าจะเป็นหน้าหนาว แต่ก็ต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ทานยารักษาโรคประจำตัวตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด หากมีความผิดปกติใด ให้รีบพบแพทย์ทันที
- หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่แออัดหรือสถานที่ที่อากาศไม่สามารถระบายได้ดีเท่าที่ควร เช่น โรงภาพยนต์
- หมั่นล้างมือบ่อย ๆ เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรค
- สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน
สรุป
โรคหน้าหนาว สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้สูงอายุไม่น้อย แม้แต่ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงเอง ก็ต้องระวังไว้เช่นกันค่ะ เพราะเราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า ภัยร้ายเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับใครหรือเมื่อไหร่ อีกทั้งยังไม่คุ้มค่าที่จะเสี่ยงเป็นโรคเหล่านี้ก่อน แล้วค่อยมารักษาทีหลังนะคะ การระวังและป้องกันไว้ก่อน เป็นวิธีการรับมือโรคเหล่านี้ที่ดีที่สุดค่ะ อย่าลืมที่จะดูแลรักษาสุขภาพอยู่เสมอในทุก ๆ ฤดูนะคะ