ว่านจั๊กจั่นพืชมงคลตามความเชื่อ ที่จริงแล้วคืออะไร กินได้จริงไหม?

ว่านจั๊กจั่น

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น “ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้” หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

         ว่านจั๊กจั่นกลายเป็นซากพืช (ซากแมลง หรือ ซากสัตว์) ที่ได้รับการกล่าวถึงในช่วงหนึ่งในหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากความเชื่อที่ว่า ว่านจักจั่น หรือ พญาว่านต่อเงินต่อทองนี้ เป็นพืชกึ่งสัตว์มงคลเฉกเช่นเดียวกับมักกะลีผลแห่งป่าหิมพานต์ จึงนับเป็นสิ่งที่หาได้ยากมาก แถมใครก็ตามที่ได้ครอบครองและทำการบูชาด้วยความศรัทธาจะนำมาซึ่งความมงคลต่าง ๆ ของชีวิต

         ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ยังมีความเชื่อในส่วนของการรักษาโรคจากการใช้ว่านดังกล่าวอีกด้วย และก็มีความเชื่อที่ขัดแย้งกันว่าว่านจั๊กจั่นเป็นเพียงซากแมลงที่ขึ้นราเท่านั้น แล้วความเชื่อไหนคือความเชื่อที่ถูกต้องและเป็นจริงกันแน่ เราขอมาเฉลยด้วยข้อมูลที่น่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์ในบทความนี้กัน

สารบัญ

ความเชื่อเกี่ยวกับว่านจั๊กจั่น

         ในส่วนของความเชื่อเกี่ยวกับว่านจั๊กจั่น หรือ พญาว่านต่อเงินต่อทองนั้น มีความเชื่อว่าเป็นจั๊กจั่นที่มีขนาดของลำตัวที่ใหญ่เป็นพิเศษ เมื่อจั๊กจั่นเหล่านั้นตาย แทนที่จะอยู่ใต้ผิวดินหรือตามหน้าดินปกติ จั๊กจั่นเหล่านั้นจะทำการฝังตัวเองลงไปในดิน แล้วเกิดเป็นจะงอยหรือหงอนงอกออกมาบนดิน จึงมีลักษณะบางส่วนที่สังเกตได้บนดิน และบางส่วนที่ยังคงอยู่ใต้ดิน อีกทั้งยังพบได้ในบางพื้นที่เท่านั้น

ว่านจั๊กจั่น

ภาพจาก : Pantip

         ทำให้เกิดความนิยมในกลุ่มพ่อค้าแม่ขายที่จะนำว่านดังกล่าวใส่พานบูชาร่วมกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ ที่หน้าร้านค้า และเป็นที่นิยมในผู้ที่ประกอบอาชีพเป็นผู้แทนในการขายสินค้าและบริการ หรือ Sale ที่มักพกว่านดังกล่าวใส่กรอบห้อยคอติดตัวไปทำงานด้วยเสมอ เพื่อหวังผลการเจรจาต่อรองกับลูกค้าให้ประสบผลสำเร็จ

ถั่งเช่า สมุนไพรมากสรรพคุณ ดีจริงเหมือนโฆษณาหรือเปล่า?

ว่านจั๊กจั่น สรรพคุณช่วยเรื่องอะไร? ทำไมคนถึงบริโภค

         นอกจากความเชื่อที่ว่า ว่านจั๊กจั่นเป็ยสิ่งที่หาได้ยาก เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เมื่อนำมาบูชาแล้ว จะช่วยในเรื่องของการค้าขาย การงาน การเจรจาต่อรอง รวมไปถึงส่วนของการเสี่ยงโชคแล้วนั้น ยังมีความเชื่อว่าหากบริโภคน้ำที่ต้มด้วยพญาว่านต่อเงินต่อทองนี้เข้าไป สรรพคุณว่านจั๊กจั่นสามารถรักษาหรือบรรเทาอาการของโรคร้ายที่เป็นอยู่ให้หายได้

สรรพคุณว่านจั๊กจั่น

ภาพจาก : มติชนออนไลน์

         โดยเฉพาะในกลุ่มของโรคร้ายที่การแพทย์และวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ไม่มีทางรักษา หรือ อยู่ในระยะประคับประคองไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แล้ว ว่านดังกล่าวจึงกลายเป็นว่านแห่งความหวัง และได้รับการบอกต่อในกลุ่มผู้ป่วยและญาติ จึงเป็นที่นิยมบริโภคกันในช่วงเวลาหนึ่ง

ความจริงเกี่ยวกับว่านจักจั่น คืออะไร? หาได้จากที่ไหน?

         เราขอกล่าวถึงในแง่ของวิทยาศาสตร์ ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากส่วนของความเชื่อที่เราได้กล่าวไปแล้วในข้างต้นอย่างสิ้นเชิง อย่างข้อคำถามที่ว่าว่านจั๊กจั่น เกิดจากอะไรในแง่วิทยาศาสตร์ก็สามารถพิสูจน์และชี้ชัดได้ว่า ว่านจั๊กจั่นนั้นเกิดจากการที่ตัวอ่อนของจั๊กจั่นที่ฝังอยู่ใต้ดินไต่ขึ้นมาสู่ผิวดิน เพื่อทำการลอกคราบแล้วเจริญเป็นจั๊กจั่นตัวเต็มวัยต่อ และช่วงที่จั๊กจั่นกำลังลอกคราบนี้ก็เป็นช่วงที่จั๊กจั่นมีความอ่อนแออย่างที่สุด

cordyceps-sobolifer

         ผนวกกับความชื้นในดิน ทำให้เกิดเชื้อราทำลายแมลงขึ้น เชื้อราทำลายแมลงเหล่านี้ก็จะไปเข้าไปขยายตัวภายในร่างจั๊กจั่นแล้วดูดน้ำ รวมถึงสารอาหารต่าง ๆ จากจั๊กจั่น แล้วแทงยอดออกมาจากตัวจั๊กจั่นเกิดเป็นจะงอยหรือหงอนที่เราเห็น เพื่อทำการแพร่พันธุ์ต่อไป ดังนั้นในหลักวิทยาศาสตร์ ว่านจั๊กจั่นจึงไม่จัดเป็นทั้งซากพืชหรือซากสัตว์ แต่เป็นเชื้อราทำลายแมลงที่อยู่ในอาณาจักรเห็ดและรานั่นเอง

เครื่องวัดความดัน
เครื่องวัดความดัน ตัวช่วยจับความดันสูง เลือกอย่างไรจึงจะเหมาะสม?

รู้หรือไม่ ว่านจั๊กจั่นไม่ควรกิน!!

         พญาว่านต่อเงินต่อทองแท้จริงแล้วก็คือ เชื้อราทำลายแมลง และแน่นอนเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นเชื้อราย่อมขยายพันธุ์โดยการสร้างสปอร์ จากนั้นก็ปลดปล่อยให้ล่องลอยไปตามอากาศและสายลม จึงนับว่าเป็นอันตรายอย่างมาก หากมีการเก็บไป แล้วเกิดการสัมผัส เชื้อราทำลายแมลงเหล่านี้ก็ติดเข้าไปตามผิวหนัง หรือ การสูดดมได้ ซึ่งล้วนเป็นอันตรายต่อร่างกายเป็นอย่างยิ่งจึงไม่ควรที่จะเก็บมาทำการบูชาแต่อย่างใด

ว่านจั๊กจั่น

ภาพจาก : Sanook.com

         ยิ่งไปกว่านั้นด้วยความรู้ทางวิทยาศาตร์ก็สามารถระบุส่วนของเชื้อราทำลายแมลงสายพันธุ์ที่ทำลายจั๊กจั่นนี้ได้ว่าเป็นเชื้อราทำลายแมลงในสายพันธุ์ Cordyceps Sobolifera หรือ คอร์ไดเซฟ โซโบลิเฟอร์รา ซึ่งไม่ควรอย่างยิ่งสำหรับการนำมาบริโภคไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด ๆ ทั้งการบริโภคสด ๆ หรือ การบริโภคโดยกรรมวิธีที่ผ่านความร้อนแล้วก็ตาม

         เพราะเชื้อราทำลายแมลงชนิดนี้จะทำให้ผู้ที่บริโภคเข้าไปเกิดอาการอาเจียน ถ่ายอุจจาระเหลว คล้ายคลึงกับอาการอาหารเป็นพิษ แต่ที่ร้ายแรงกว่าคือ มีอาการเกร็งกระตุก อาการชัก อาการอ่อนแรงใจสั่น วิงเวียนอย่างรุนแรง เพ้อ คลั่ง รวมไปถึงอาการตาพร่า มองทิศทางไม่ชัดเจน และ ในบางรายที่เข้ารับการรักษาไม่ทันเวลา หรือ ผู้ที่บริโภคเข้าไปมีอาการหรือโรคประจำตัวอื่น ๆ ร่วมด้วยอยู่แล้วก็นำไปสู่การเสียชีวิตได้เลย

สรุป

         ความเชื่อเป็นสิ่งที่อยู่เคียงคู่มนุษย์มาแต่ช้านาน และเมื่อมีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาก็ทำให้ความเชื่อบางอย่างที่สามารถพิสูจน์ได้ถูกลบล้างลง รวมถึงความเชื่อเกี่ยวกับว่านจั๊กจั่นที่เรากล่าวไปแล้วข้างต้นในบทความ เพราะไม่เพียงแต่ว่านจั๊กจั่นจะไม่ได้ช่วยให้คุณประโยชน์ทั้งต่อผู้ที่บูชาหรือบริโภคแล้วนั้น ยังนำมาซึ่งอันตรายถึงแก่ชีวิตอีกด้วย

Website ของเรามีการเก็บ cookies เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ... อ่านเพิ่มเติม นโยบายคุกกี้

Close Popup