ฟ้าทะลายโจร ป้องกันโควิด-19 ได้ไหม? รวมสารพัดวิธีป้องกันโควิด ที่ยิ่งทำยิ่งเสี่ยงอันตราย!

ฟ้าทะลายโจร ป้องกันโควิด

         หลายคนคงได้เห็นได้อ่าน เกี่ยวกับ วิธีป้องกันโควิด-19 ที่ถูกแชร์ตามสื่อโซเชียลต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องของ “ฟ้าทะลายโจร ป้องกันโควิด” ที่เรียกได้ว่ากำลังเป็นกระแส จนหลายคนถึงกับไปตระเวนหาซื้อทั้งสมุนไพรทั้งแคปซูลมากิน นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายความเชื่อหลายวิธีที่ถูกนำมาแชร์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการตากแดดฆ่าเชื้อไวรัสได้ กินเจ-มังสวิรัติไม่ติดโควิด ฯลฯ ซึ่งบางความเชื่อ ไม่ใช่ว่าทำไว้ดีกว่าไม่ทำอะไรเลยนะคะ เพราะบางอย่างเนี่ยยิ่งทำยิ่งแย่ นอกจากจะไม่ป้องกันโควิดแล้ว ยังเสี่ยงอันตรายอีก แล้วคุณกำลังเชื่อเรื่องราวผิด ๆ เหล่านี้อยู่บ้างหรือเปล่า? มาเช็กกันค่ะ

ฟ้าทะลายโจร ป้องกันโควิด

สารบัญ

สินค้า COVID ลดราคา สั่งซื้อผ่านไลน์ คลิก

ฟ้าทะลายโจร ป้องกันโควิด-19 ได้?!?

         สำหรับความเชื่อเรื่องการกินฟ้าทะลายโจร สามารถป้องกันโควิด-19 ได้นั้น แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ออกมาให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานหรืองานวิจัยที่ยืนยันได้ว่า ฟ้าทะลายโจร ป้องกันโควิด-19 ได้จริง

ฟ้าทะลายโจร ป้องกันโควิด

         ฟ้าทะลายโจร เป็นพืชชนิดหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการรักษาทางการแพทย์แผนไทย มีสรรพคุณเด่นในการบรรเทาอาการของโรคไข้หวัด แก้ไอและเจ็บคอได้ดี ซึ่งจากการนำฟ้าทะลายโจรไปทดลอง เพื่อศึกษาถึงสรรพคุณในการป้องกันโรคโควิด-19 พบว่า ไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสได้ แต่เมื่อนำไปใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการน้อย พบว่ามีอาการที่ดีขึ้น จึงอาจเป็นทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 บางราย (ที่มีอาการน้อย) ในอนาคตได้

         แต่ถึงอย่างไร ฟ้าทะลายโจร หากกินอย่างไม่เหมาะสม และไม่ได้อยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ นอกจากจะไม่ช่วยป้องกันโควิด-19 ดังที่กล่าวข้างต้นแล้ว อาจทำให้เกิดอันตรายได้ เช่น โรคไต แขนขาชาและอ่อนแรง อีกทั้งผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตร ไม่ควรรับประทานเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้น แพทย์ไม่แนะนำให้ซื้อฟ้าทะลายโจรมารับประทานเอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ขิง กระเทียม และกระชาย ผสมน้ำผึ้งดื่มต้านโควิด

         นอกจากความเชื่อเรื่องฟ้าทะลายโจร ป้องกันโควิดได้แล้ว ความเชื่อเรื่องสมุนไพรอย่างขิง กระเทียม กระชาย ก็ฮิตไม่แพ้กันเลยค่ะ สำหรับประเด็นนี้ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้กล่าวว่า ยังไม่มีงานวิจัยใดที่ยืนยันว่า สมุนไพรทั้ง 3 ชนิด สามารถดื่มเพื่อต้านโควิด-19 ได้

ขิง กระเทียม กระชาย ป้องกันโควิด

         สำหรับสูตรที่เอาสมุนไพรเหล่านี้มาผสมกับน้ำผึ้ง แล้วคั้นหรือสกัดออกมาเป็นเครื่องดื่ม ยังไม่มีการทดลองหรือมีแนวโน้มใดที่พอจะยืนยันได้ว่าสามารถต้านโควิดได้ โดยสมุนไพรทั้ง 3 ชนิด มีสรรพคุณในการบรรเทาอาการท้องอืด – ท้องเฟ้อเท่านั้น ซึ่งหากนำมาดื่มหรือรับประทานในปริมาณที่ไม่เหมาะสม จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคตับ โรคไต และด้วยฤทธิ์ที่ร้อนทำให้มีโอกาสเป็นแผลในปากหรือร้อนในสูงอีกด้วย

ยืนตากแดดและแสงไฟ UV ฆ่าเชื้อไวรัสได้ เพราะโควิด-19 แพ้ความร้อน

         หลังจากที่มีผลการวิจัยออกมายืนยันว่า เชื้อไวรัสโคโรน่าหรือโรคโควิด-19 แพ้ความร้อน จึงทำให้เกิดการแชร์วิธีการป้องกันด้วยการไปยืนตากแดดและแสงไฟ UV เพื่อฆ่าเชื้อไวรัสที่เกาะตามเสื้อผ้า หรือทำให้ร่างกายเกิดความร้อน เพื่อฆ่าไวรัสที่อาจจะรับมา ในประเด็นนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมายืนยันแล้วว่า ไม่เป็นความจริงอย่างแน่นอน การตากแดดหรืแสงไฟ UV ไม่มีผลกับเชื้อไวรัส

ตากแดด ฆ่าเชื้อโควิด

         จากการศึกษาทดลองพบว่า เชื้อไวรัสโคโรน่า ของโรคโควิด-19 นั้น สามารถทนทานต่อความร้อนได้ถึง 90 องศาเซลเซียส ซึ่งแน่นอนว่าแสงแดดไม่มีทางมีอุณหภูมิที่สูงถึง 90 องศาเซลเซียสได้ เพราะถ้าถึงมนุษย์จะไม่สามารถทนความร้อนเหล่านั้นได้ ในประเทศไทยอุณหภูมิสูงสุดที่เคยพบคือ 44 องศาเซลเซียส ซึ่งในปีนั้นพบผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ดังนั้น ยืนยันได้ว่าการตากแดดหรือแสงไฟ UV ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้อย่างแน่นอน อีกทั้งการตากแดดนาน ๆ เสี่ยงทำให้เกิดฮีทสโตรก ซ้ำร้ายจะยิ่งทำให้ผิวหนังเกิดความเสียหาย เช่น ถูกเผาไหม้ ผิวลอก และเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังได้

อ่านบทความ : ฮีทสโตรก ภัยร้ายหน้าร้อนจากโรคลมแดด หากไม่ระวัง อันตรายถึงชีวิต!

กลั้นหายใจ ทดสอบว่าติดโควิด-19หรือไม่ กลั้นแล้วไอ-แน่นหน้าอก = ติดโควิด

         ในโลกโซเชียลได้แชร์คลิปทดสอบการกลั้นหายใจ หรือให้ทดสอบด้วยตนเองโดยการกลั้นหายใจ 10 วินาที หากทำแล้วพบว่ามีอาการไอหรือแน่นหน้าอก นั่นหมายถึงว่าได้ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว สำหรับข้อมูลนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ยืนยันแล้วว่าไม่เป็นความจริง ณ ปัจจุบันยังไม่สามารถทดสอบการติดโควิด-19 ได้ด้วยตนเองได้

กลั้นหายใจ ทดสอบโควิด

         ณ ตอนนี้วิธีการตรวจหาโรคโควิด-19 ที่ได้ผลลัพธ์ที่สามารถยืนยันได้ คือการไปตรวจที่โรงพยาบาลกับแพทย์เท่านั้น ซึ่งวิธีที่แม่นยำที่สุดคือการ swab test การกลั้นหายใจไม่สามารถวัดผลว่าติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อได้ หรือหากจะทดสอบว่าปอดอักเสบหรือไม่นั้น ต้องไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ฟังเสียงปอด ไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง

พ่นสเปรย์แอลกอฮอล์ใส่ตามตัว เชื้อไวรัสไม่เกาะ!

         อีกหนึ่งวิธีป้องกันโควิดยอดฮิต นั่นก็คือการนำสเปรย์แอลกอฮอล์มาฉีดพ่นตามร่างกาย เพราะเชื่อว่าเชื้อไวรัสจะไม่มาเกาะ และสามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ กรณีนี้ นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้กล่าวว่า เป็นวิธีที่ทำแล้วไม่ช่วยให้เกิดผลอะไร แถมยังอันตรายต่อผิวหนังและดวงตาอีกด้วย

ฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อ

         แม้แอลกอฮอล์จะช่วยฆ่าเชื้อไวรัสได้ (ต้องเป็นแอลกอฮอล์เข้มข้น) แต่การฉีดใส่ตัวนั้นไม่มีผลอะไร เพราะเชื้อไวรัสจะติดต่อด้วยการที่ร่างกายรับสารคัดหลั่งจากผู้ติดเชื้อ ถึงแม้พ่นแอลกอฮอล์มากแค่ไหน แต่มือยังไปสัมผัสเชื้อโรค แล้วมาสัมผัสถูกตา จมูก ปาก ก็สามารถติดเชื้อได้อยู่ดี อีกทั้งแอลกอฮอล์ถ้าถูกพ่นใส่ผิวหนังโดยตรง จะทำให้เกิดการระคายเคือง โดยเฉพาะบริเวณเนื้อเยื่อต่าง ๆ อย่างดวงตา ซึ่งเสี่ยงมากที่จะทำให้ตาบอดได้

รวมสูตรทำน้ำยาฆ่าเชื้อไวรัส โควิด-19 ง่ายๆ ไม่ใช้แอลกอฮอล์ คลิกเลย!!!

วัคซีนป้องกันปอดอักเสบ ฉีดแล้วป้องกันโควิด-19 ได้!

         อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่าโรคโควิด-19 มักจะทำให้เกิดปอดอักเสบ ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงมาก จึงได้มีข้อมูลที่ถูกแชร์กันมากมายในโลกโซเชียล ว่าวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ หากฉีดแล้วสามารถป้องกันการติดโรคโควิด-19 ได้ เทียบเท่ากับการฉีดวัคซีนเฉพาะของโรคโควิด-19 เอง สำหรับประเด็นนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมายืนยันแล้วว่า เป็นข้อมูลเท็จ ไม่สามารถป้องกันได้จริง

วัคซีนโควิด-19

         เนื่องจากโรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่มีความเฉพาะเจาะจง การที่จะสามารถป้องกันได้นั้น จะต้องใช้วัคซีนที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรับมือกับโรคนี้โดยเฉพาะเท่านั้น ซึ่งวัคซีนป้องกันปอดอักเสบเอง ก็เป็นวัคซีนที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อป้องกันโรคปอดอักเสบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสเท่านั้น ดังนั้น จึงไม่สามารถป้องกันกับเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ หรือแม้แต่อาการปอดอักเสบที่เกิดขึ้นจากโรคโควิด-19 ก็ไม่สามารถป้องกันได้เช่นกัน

ไขข้อข้องใจ! วัคซีนโควิด-19 ฉีดได้ที่ไหน? Sinovac ที่ฉีดในไทย มีผลข้างเคียงหรือไม่? คลิกเลย!!!

สุดยอดยาสูตรผีบอก ดื่มน้ำมะนาวรักษาโควิด-19 ได้!

         หลายคนเชื่อว่ามะนาว เป็นสมุนไพรวิเศษที่สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ จะเห็นได้จากข้อมูลที่ถูกแชร์ต่อกันมากมายมานานหลายปี ไม่ว่าจะเป็นมะนาวผสมโซดา รักษามะเร็ง มะนาวหยอดตารักษาโรคต้อเนื้อ และล่าสุดกับสูตรดื่มมะนาวร้อน ช่วยรักษาโรคโควิด-19 ซึ่งกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ออกมาชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริง น้ำมะนาวไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโคโรน่าได้

ดื่มน้ำมะนาวร้อน

         มะนาว มีสรรพคุณในการแก้ไอ ขับเสมหะ และมีวิตามีนซีช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ ไม่ได้มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโควิด-19 หรือเชื้อไวรัสใดเป็นพิเศษ แม้จะถูกนำมาคั้นเป็นเครื่องดื่มร้อน เพราะเชื่อว่าโควิด-19 แพ้อุณหภูมิสูง ก็ไม่มีผลลัพธ์ที่ต่างไปจากเดิม ซ้ำร้ายหากกินในสัดส่วนที่ไม่เหมาะสม ก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการเสียวฟัน และอาการแสบร้อนกลางอกได้

ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ ป้องกันโควิด-19 เข้าจมูกได้?!?

         หลายคนอาจจะเคยได้ยินแพทย์แนะนำ ให้ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ เพื่อลดการคัดจมูกและล้างน้ำมูกที่อาจจะคั่งค้างอยู่ภายในได้ จึงทำให้เข้าใจว่า ถ้าล้างน้ำมูกได้ ก็จะสามารถฆ่าเชื้อโควิด-19 ที่รับมาให้ไหลออกมาได้เช่นกัน และอาจจะเป็นการใช้น้ำเกลือเพื่อป้องกันไม่ให้โควิด-19 เข้าจมูกได้ เรื่องนี้ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ยืนยันแล้วว่าไม่เป็นความจริง น้ำเกลือไม่สามารถป้องกันวิด-19 ได้

ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ

         แม้จะมีงานวิจัยทางการแพทย์ออกมาบอกว่า การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ จะทำให้หายจากไข้หวัดธรรมดาได้เร็วขึ้น แต่สำหรับเชื้อไวรัสโคโรน่าแล้ว น้ำเกลือไม่สามารถทำอะไรได้ เพียงแต่ช่วยให้การหายใจสะดวกขึ้นเท่านั้น ส่วนจมูกก็ยังสามารถรับเชื้อเข้ามาได้เหมือนเดิม หรือหากรับเชื้อมาแล้ว ต่อให้ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือก็ไม่สามารถกำจัดให้เชื้อไวรัสออกไปได้ เพราะเชื้อก็ยังคงแพร่กระจายและมุ่งหน้าไปยังลำคอและปอดเช่นเดิม แถมล้างไม่ถูกวิธียังเสี่ยงทำให้เชื้อโรคอื่นเข้าจมูกได้ง่ายขึ้นด้วย

กินเจ – กินมังสวิรัติ ทำให้เลือดเป็นด่าง ไม่ติดเชื้อโควิด-19

         อีกหนึ่งความเชื่อป้องกันโควิด-19 ที่ดังกระหึ่มในโลกโซเชียลไม่แพ้กันนั่นก็คือ การกินเจ – กินมังสวิรัติ ไม่ติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากการละเว้นเนื้อสัตว์ กินแต่ผักผลไม้ ทำให้เลือดเป็นด่าง อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาพูดถึงประเด็นนี้ว่า การกินเจ – กินมังสวิรัติ ไม่ช่วยให้ต้านโควิดได้ กินหรือไม่กินเนื้อสัตว์ สามารถติดเชื้อได้เหมือนกัน

กินเจ ไม่ติดโควิด

         จากการวิจัยเลือดของคนที่กินเจ – กินมังสวิรัติ กับคนที่กินเนื้อสัตว์ พบว่าเลือดมีค่าเป็นด่างอ่อนๆ ประมาณ 7.35 – 7.45 เท่ากันทุกคน แถมผู้ที่กินเนื้อสัตว์ในสัดส่วนที่เหมาะสมครบ 5 หมู่ ยังมีแนวโน้มสุขภาพที่ดีกว่าผู้ที่ละเว้นเนื้อสัตว์อีกด้วย ฉะนั้นการกินหรือไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อโควิด-19 แต่อย่างใด

ดื่มแอลกอฮอล์ ช่วยฆ่าเชื้อโควิด-19 ที่อยู่ในลำคอได้

         หลังจากที่มีงานวิจัยยืนยันแล้วว่า แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้ จึงทำให้หลายคนพยายามนำแอลกอฮอล์มาปรับใช้ในการป้องกันตนเองทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ ฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ตามตัวตามข้าวของเครื่องใช้ และความเชื่อหนึ่งก็คือ การดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อฆ่าเชื้อโควิด ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ออกมายืนยันแล้วว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ช่วยฆ่าเชื้อโควิด-19 แต่เสี่ยงทำให้มีโอกาสติดเชื้อมากกว่าเดิม!

ดื่มแอลกอฮอล์ ฆ่าเชื้อโควิด

         ไม่ใช่ว่าแค่เป็นแอลกอฮอล์ ก็สามารถฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้ แต่ต้องเป็นแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นสูง หรือต้องมีเอทานอล (ethyl alcohol) เป็นส่วนประกอบ 60 – 95 % ซึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วไปไม่มีความเข้มข้นสูงระดับนั้น การดื่มแอลกอฮอล์จึงไม่ได้ช่วยฆ่าเชื้อแต่อย่างใด แต่ในทางกลับกัน กลับทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง เซลล์ทำงานผิดปกติ อาจเกิดภาวะระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน เช่นเดียวกับอาการของโรคโควิด-19 นั่นหมายถึงเสี่ยงทั้งติดเชื้อโควิด-19 และเสี่ยงเสียชีวิตสูง

สรุป

ความเชื่อเกี่ยวกับวิธีป้องกันโควิด-19 ข้างต้น เป็นความเชื่อที่ถูกเผยแพร่จากผู้ที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ อีกทั้งยังไม่มีหลักฐานหรืองานวิจัยใดที่ออกมายืนยันว่าทำได้จริง แต่ที่แน่ ๆ ความเชื่อเหล่านี้ยืนยันได้ว่า หากปฏิบัติไม่ถูกต้อง ย่อมเกิดอันตรายแน่นอน ดังนั้น ควรเลือกรับสารรับข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ อย่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานเฉพาะทาง หรืองานวิจัยที่ได้รับการยืนยันให้เผยแพร่อย่างถูกต้องได้นะคะ

Website ของเรามีการเก็บ cookies เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ... อ่านเพิ่มเติม นโยบายคุกกี้

Close Popup