ปัญหา ภัยแล้ง เป็นวิกฤติร้ายที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน และ Climate Change องค์การสหประชาชาติจึงได้กำหนดให้วันที่ 17 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันต่อต้านปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งของโลก ALLWELL จึงขอพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับความน่ากลัวของภัยแล้ง และวิธีรับมือในวันที่ต้องเจอกับปัญหานี้ เพื่อให้เราทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของน้ำและธรรมชาติกันมากขึ้นค่ะ
สารบัญ
- ภัยแล้งเกิดจากอะไร?
- อันตรายของภัยแล้ง
- 7 โรคที่มากับภัยแล้ง
- รับมืออย่างไรในวันที่ภัยแล้งมาเยือน
- ป้องกันภัยแล้งไม่ให้มาเยือน
ภัยแล้ง เกิดจากอะไร?
ภัยแล้ง คือ ภัยธรรมชาติหนึ่งที่เกิดจากการที่ฝนตกน้อยหรือไม่ตกตามฤดูกาล เป็นระยะเวลานานหลายเดือนหรือหลายปี หรือที่หลายคนเรียกว่าฝนแล้ง ซึ่งทำให้สภาพดินฟ้าอากาศเกิดความแห้งแล้งและขาดแคลนน้ำ จนส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะการอุปโภค บริโภค เศรษฐกิจ สังคม และยังก่อให้เกิดอัคคีภัยและโรคระบาดตามมาอีกมากมาย
ในประเทศไทยเองก็ประสบปัญหาภัยแล้งเป็นประจำทุกปี โดยมักเกิดในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤษภาคม บริเวณภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคตะวันออก และจะมีภัยแล้งอีกช่วง ในเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม โดยมักจะเกิดแค่บางพื้นที่ แต่บางครั้งอาจเกิดทั่วประเทศเลยก็ได้ ซึ่งภัยแล้งเหล่านี้ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากภัยธรรมชาติ และการกระทำของมนุษย์
ภัยแล้งเกิดจากอะไร?
- สภาพภูมิอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ฝนตกน้อย-ทิ้งช่วงนาน น้ำใต้ดินมีน้อย ดินเก็บความชื้นไม่ดี
- อุณหภูมิโลกเปลี่ยนแปลง อากาศร้อนมากกว่าปกติ ทำให้ฝนไม่ตก-แห้งแล้ง
- ตำแหน่งร่องมรสุมเกิดความผิดปกติ ทำให้ฝนทิ้งช่วงหรือตกไม่ต่อเนื่อง
- พายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนที่ผ่านน้อยกว่าปกติ ทำให้ไม่เกิดฝน
- อุณหภูมิโลกสูงขึ้น จากการกระทำของมนุษย์ เช่น การเผาพลาสติก มลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม
- ใช้น้ำมากจนเกินไป ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำใต้ดินลดลง
- การตัดไม้ทำลายป่าส่งผลให้ขาดความชื้นและขาดต้นไม้ซึมซับน้ำ
อันตรายของ ภัยแล้ง ที่เป็นมากกว่าความแห้งแล้ง
ภัยแล้งไม่ได้สร้างแค่เพียงความแห้งแล้งหรืออากาศที่ร้อนเท่านั้น แต่เนื่องด้วยความแห้งแล้งนี้ เป็นบ่อเกิดของภัยพิบัติและหายนะต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของทั้งมนุษย์และสัตว์ ซึ่งหากภัยแล้งนี้เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก ท้ายที่สุดแล้ว อาจจะไม่มีสิ่งมีชีวิตใดดำรงชีวิตอยู่เลยก็เป็นได้
อันตรายของภัยแล้ง
- มนุษย์เกิดภาวะขาดแคลนและอดอยาก เนื่องจากขาดน้ำในการอุปโภค-บริโภค
- ไม่มีน้ำในการทำการเกษตร และเลี้ยงปศุสัตว์ ทำให้ขาดผลผลิตและอาหาร
- เมื่อไม่มีน้ำดื่ม ก็จะตามมาด้วยภาวะขาดน้ำ ขาดสารอาหาร และเกิดโรคระบาด
- น้ำประปาที่มีอยู่อาจเกิดปัญหาน้ำเค็ม อันตรายต่อผู้ป่วยโรคไต โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง
- สัตว์โลกจะล้มตาย เนื่องจากขาดอาหารและที่อยู่อาศัย
- เกิดไฟป่าได้ง่ายขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อทรัพย์สินและชีวิตเป็นวงกว้าง
- เกิดพายุฝุ่นหรือภัยพิบัติอื่น ๆ ตามมา
- ขาดกระแสน้ำไหลผ่านเขื่อน ส่งผลให้มนุษย์ผลิตกระแสไฟฟ้ามาใช้ได้น้อยลง
- อุตสาหกรรมทุกอย่างหยุดชะงัก เนื่องจากขาดน้ำ ผลผลิต และกระแสไฟฟ้า ทำให้ประชากรตกงาน
- รัฐจะต้องใช้เงินจำนวนมากในการช่วยเหลือประชากรที่ประสบภัยพิบัติ
- อาจเกิดปัญหาความขัดแย้งและสู้รบเพื่อแย่งชิงทรัพยากร
สถาบันทรัพยากรโลก ได้ให้ข้อมูลว่า เกือบ 400 ภูมิภาคในโลก หรือราว ๆ 2.6 พันล้านคน กำลังอาศัยอยู่โดยมีทรัพยากรน้ำอย่างจำกัด อาจเข้าใกล้สภาวะ Day Zero หรือวันที่ไม่มีน้ำ
7 โรคที่มากับ ภัยแล้ง
โรคที่มากับภัยแล้งที่มักพบ ส่วนใหญ่จะมีจุดเริ่มต้นมาจากการขาดน้ำในการอุปโภคบริโภค รวมทั้งสภาพอากาศที่ย่ำแย่ ส่งผลต่อการใช้ชีวิต เช่น
- ภาวะขาดน้ำและขาดสารอาหาร
- โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง เนื่องจากมลพิษทางอากาศ
- โรคอุจจาระร่วง และอาหารเป็นพิษ เนื่องจากอาหารบูดเสียและปนเปื้อนเชื้อโรค
- โรคผิวหนัง จากการไม่มีน้ำเพียงพอในการทำความสะอาดร่างกาย
- โรคลมแดด (Heat Stroke)
- โรคสัตว์เลี้ยงที่มากับอากาศร้อน เช่น พิษสุนัขบ้า
- มีปัญหาสุขภาพ เช่น ปวดหัว เครียด หงุดหงิด นอนไม่หลับ
รับมืออย่างไรในวันที่ภัยแล้งมาเยือน
ภัยแล้ง เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่เราคิด เห็นได้ว่ามีประชากร 1 ใน 3 จากทั่วโลก ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และด้วยภาวะโลกร้อนที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ อาจทำให้อนาคตความแห้งแล้งจะเกิดขึ้นอีกในหลายพื้นที่ หรืออาจจะทั่วโลกเลยก็ได้ ซึ่งถ้าวันหนึ่งภัยแล้งนี้เกิดขึ้นกับเรา เราควรรับมือกับภัยร้ายนี้อย่างไรบ้าง?
วิธีรับมือภัยแล้ง-ฝนแล้ง
- หากมีทีท่าว่าจะเกิดภัยแล้ง ให้เตรียมกักเก็บน้ำสะอาด เพื่อใช้อุปโภค-บริโภคให้เพียงพอ
- บริหารจัดการใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด
- ติดตามข่าวสารเรื่องภัยพิบัติอยู่เสมอ
- วางแผนเตรียมไว้ ในกรณีที่จำเป็นต้องอพยพ
- กำจัดวัสดุหรือสิ่งที่เป็นเชื้อเพลิงไฟรอบ ๆ บ้าน เพื่อป้องกันการลุกลามของไฟป่า
- เตรียมเบอร์โทรฉุกเฉิน เมื่อขาดน้ำในการบริโภค และขอความช่วยเหลือในการดับไฟป่า
- หากต้องใช้น้ำในการทำการเกษตร ควรใช้ในช่วงเช้าและเย็น เพื่อลดอัตราการระเหยน้ำ
เราจะสามารถป้องกันไม่ให้เกิด ภัยแล้ง อย่างไรได้บ้าง?
หัวใจหลักที่ทำให้เกิดภัยแล้ง คือเรื่องของการขาดน้ำในการใช้อุปโภค-บริโภค ดังนั้น การจะป้องกันไม่ให้ภัยแล้งเกิด เราต้องหยุดต้นตอที่จะทำให้เกิดภัยนี้ แน่นอว่า เรื่องภัยพิบัติธรรมชาติเราอาจห้ามไม่ได้ แต่เราสามารถวางแผนรับมือ รวมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือกิจกรรมของมนุษย์ ที่เป็นต้นเหตุของภัยแล้งได้
วิธีป้องกันภัยแล้ง
- ใช้น้ำอย่างประหยัดและให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ใช้ฝักบัวแทนการตักอาบ น้ำเหลือนำไปรดต้นไม้ ฯลฯ
- หาบรรจุภัณฑ์ที่สะอาด และมีฝาปิดมิดชิด สำหรับสำรองน้ำสะอาดไว้ใช้
- เพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยการปลูกป่า ไม่ทำลายหรือบุกรุกธรรมชาติ
- รดน้ำต้นไม้ในช่วงเช้าและเย็น ที่อากาศไม่ร้อนจัด จะช่วยลดอัตราการระเหยน้ำ
- หมั่นตรวจสอบท่อน้ำ หากน้ำรั่วซึมให้รีบซ่อมแซม
สรุป
ปัญหาภัยแล้งไม่ใช่เรื่องที่เราจะมองข้ามได้ เพราะภัยแล้งไม่ใช่แค่ปัญหาความแห้งแล้ง แต่คือภัยพิบัติที่เป็นบ่อเกิดของปัญหาอีกมากมาย หากรุนแรงมากและขยายวงกว้างไปทั่วโลก อาจทำให้มวลมนุษยชาติไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ดังนั้น ก่อนที่จะเกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้น เราควรหันมาดูแลรักษา และบริหารจัดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างประหยัดดันนะคะ