บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
อาการ นิ่วในถุงน้ำดี หรือโรคนิ่ว พบมากในเพศหญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป ในเพศหญิงมีความเสี่ยงในการเป็นนิ่วมากกว่าเพศชาย 1 – 2 เท่า และมีความเสี่ยงสูงในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีคลอเรสเตอรอลสูง เป็นโรคเบาหวาน ธาลัสซีเมีย ผู้หญิงที่มีบุตรแล้ว บุคคลเหล่านี้จะมีโอกาสเป็น นิ่วในถุงน้ำดีมากกว่าคนอื่น ๆ
- นิ่วในถุงน้ำดี คือ โรคในระบบทางเดินอาหาร ที่มีก้อนขนาดเล็กเกิดขึ้นในถุงน้ำดี
- ถุงน้ำดี คือ ส่วนหนึ่งของระบบทางเดินน้ำดี มีหน้าที่ช่วยย่อยไขมันที่เราทานเข้าไป และเป็นแหล่งกักเก็บแหล่งน้ำดี ที่ร่างกายไม่ใช้แล้ว เพื่อช่วยในการแตกไขมัน
สารบัญ
- นิ่วในถุงน้ำดีเกิดจากอะไร?
- ลักษณะอาการนิ่วในถุงน้ำดี
- ใครบ้างที่เสี่ยงมีอาการนิ่วในถุงน้ำดี
- อาการนิ่วในถุงน้ำดี ป้องกันได้อย่างไร?
นิ่วในถุงน้ำดี เกิดจากอะไร?
นิ่วในถุงน้ำดี เกิดจากหลากหลายสาเหตุ แตกต่างกันออกไป สามารถแบ่งได้เป็น 3 สาเหตุหลัก ๆ ดังนี้
1. เกิดจากการมีเม็ดสีหรือบิลิรูบินมากเกินไป
นิ่วมีลักษณะเป็นสีน้ำตาล หรือสีดำ เกิดจากสารบิลิรูบิน ทำหน้าที่เป็นสารเคมีที่ผลิตขึ้น เมื่อเซลล์เม็ดเลือดถูกทำลายหรือตาย หรืออาจเกิดจาก โรคตับแข็ง การติดเชื้อในระบบทางเดินน้ำดี โรคโลหิตจาง ธาลัสซีเมีย โลหิตจางจากการขาดเอนไซม์ G6PD
ภาพจาก ENDO-X-TCPH ศูนย์ส่องกล้องทางเดินอาหารและท่อน้ำดีระดับภูมิภาค
2.เกิดจากการมีคอเลสเตอรอลมากเกินไป
เป็นชนิดที่พบได้บ่อย มีลักษณะเป็นก้อนสีขาว สีเหลือง หรือสีเขียว เกิดจากการที่ตับขับคอเลสเตอรอล ออกมามากจนเกินไป ทำให้เกิดตะกอน จนกลายเป็นนิ่วในที่สุด หรือเกิดสารคอเลสเตอรอลที่บีบออกมาได้ไม่หมด เนื่องมาจากการบีบตัวที่ไม่ดีพอของกล้ามเนื้อในถุงน้ำดี
ภาพจาก : hatyaisurgeon.blogspot.com
3.เกิดจากถุงน้ำดีขับของเสียออกได้ไม่เหมาะสม
มีลักษณะ เป็นสีเหลืองปนดำ หรือน้ำตาล เกิดจากการที่น้ำดี ไม่สามารถขับของเสียออกมาได้อย่างเหมาะสม ทำให้น้ำดีมีความเข้มข้นมากจนเกินไป และส่งผลให้คอเลสเตอรอลและบิลิรูบินตกตะกอนรวมกับสารอื่น ๆ และก่อตัวกลายเป็นนิ่วในที่สุด
IMAGE SOURCE : www.slideshare.net (Shashidhar Venkatesh Murthy)
ก้อนนิ่วอาจมีขนาดเล็กเท่าก้อนเม็ดทราย หรือมีขนาดใหญ่เท่าลูกกอล์ฟ
นิ่วในถุงน้ำดี อาการเป็นอย่างไร?
นิ่วในถุงน้ำดี มักจะไม่แสดงอาการที่ชัดเจน ทำให้ผู้ป่วยบางราย มักคิดว่าตนเองเป็นโรคกระเพาะ จึงซื้อยามารับประทานเอง ซึ่งผู้ป่วยจะทราบว่านั่นคืออาการนิ่วในถุงน้ำดี ก็ต่อเมื่อมาตรวจสุขภาพ หรืออาจทราบจากการพบแพทย์ด้วยปัญหาสุขภาพอื่น วิธีสังเกตอาการนิ่วในถุงน้ำดี มีดังนี้
อาการนิ่วในถุงน้ำดี
-
ปวดท้องบริเวณท้องส่วนบน หรือท้องด้านขวาอย่างรุนแรง บางรายอาจมีอาการปวดร้าวไปยังกระดูกสะบัก หรือไหล่ด้านขวา
-
ปวดบริเวณกลางท้อง หรือใต้กระดูกหน้าอกอย่างรุนแรง และมักเกิดขึ้นอย่างกระทันหัน
-
ปวดหลัง ช่วงไหล่ และสะบัก
-
มีอาการคลื่นไส้ หรืออาเจียน
-
มีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย แสบร้อนบริเวณอก มีลมในกระเพาะอาหาร และรู้สึกจุกเสียดบริเวณลิ้นปี่ หลังรับประทานอาหาร
และหากมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วยควรพบแพทย์
-
ปวดท้องรุนแรง จนไม่สามารถนั่งในท่าปกติได้
-
เป็นดีซ่าน ผิวซีดเหลือง ตาเหลือง
-
มีไข้ หนาวสั่น
-
ปัสสาวะสีเข้ม หรือมีอุจจาระสีซีด มักเกิดขึ้นในกรณีที่ก้อนนิ่วอุดตันในท่อน้ำดี
ใครบ้างที่เสี่ยงมี นิ่วในถุงน้ำดี
โรคนิ่วในถุงน้ำดี สาเหตุหลักมาจากการที่สารบางอย่างในร่างกาย เกิดความไม่สมดุลกัน ดังนั้น ผู้ที่มีปัจจัยที่ทำให้สารในร่างกายเกิดความไม่สมดุล ไม่ว่าจะด้วยอายุ พฤติกรรมการกินหรือการใช้ชีวิต ย่อมเสี่ยงต่อการเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้ค่ะ
- ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก หรือผู้ที่เป็นโรคอ้วน เพราะอาจทำให้มีระดับคอเลสเตอรอลในถุงน้ำดี สูงจนไม่สามารถขับออกมาได้ดีเท่าที่ควร
- ผู้ใช้ยาคุมกำเนิด ใช้ฮอร์โมนสำหรับผู้ที่ใกล้หมดประจำเดือน หรือผู้ที่ตั้งครรภ์ มักเสี่ยงเป็นนิ่วในถุงน้ำดี เพราะบุคลลเหล่านี้ อาจมีฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มากจนเกินไป จนทำให้เกิดปัญหา และส่งผลทำให้ระดับคอเลสเตอรอลสูงขึ้น ทำให้การขับของถุงน้ำดีเป็นไปได้ไม่ดี
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน เนื่องจากผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน จะมีระดับไตรกลีเซอไรด์สูง ส่งผลให้ถุงน้ำดีบีบตัวได้ไม่ดีนัก จึงเสี่ยงที่จะทำให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้
- ผู้ที่มีน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ร่างกายละลายไขมันมากเกินไป ส่งผลให้ตับผลิตคอเลสเตอรอลออกมามากเกินไป
- พันธุกรรม หากบุคคลในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นนิ่วในถุงน้ำดีมาก่อน ลูกหลานก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้เช่นกัน
- รับประทานอาหารไขมันสูง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของความอ้วน และทำให้คอเรสเตอรอลสูง
- เพศหญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และเพศชายที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีมากกว่าวัยอื่น ๆ
นั่นก็เพราะว่าผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีส่วนทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในถุงน้ำดีนั้นสูงขึ้น และการทานยาคุมกำเนิด หรือทานฮอร์โมนจากภาวะหมดประจำเดือนนั้น ถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้นั่นเอง
ภาวะแทรกซ้อนที่ตามมา
- ท่อน้ำดีอักเสบ เกิดจาการที่ก้อนนิ่วเข้าไปอุดตันท่อถุงน้ำดี ที่เป็นทางไหลผ่านของน้ำดี ซึ่งอาจทำให้เป็นดีซ่าน หรือติดเชื้อในท่อน้ำดีได้
-
ตับอ่อนอักเสบ เกิดจากการที่ก้อนนิ่วเข้าไปปิดที่ท่อของตับอ่อน ส่งผลให้มีอาการปวดท้องรุนแรง อย่างต่อเนื่อง และต้องรักษาอย่างทันท่วงที
-
ถุงน้ำดีอักเสบ ทำให้น้ำดีไม่สามารถไหลผ่านไปยังลำไส้เล็กได้ ส่งผลทำให้มีน้ำดีอยู่ในถุงมากเกินไป เป็นการเพิ่มแรงดันถุงน้ำดี ทำให้เกิดการอักเสบ
-
มะเร็งท่อน้ำดี พบมากในเพศชายมากกว่าเพศหญิง เป็นก้อนเนื้อร้ายที่เกิดจากเซลล์เยื่อบุผนังของท่อน้ำดี
-
ติดเชื้อในกระแสเลือด อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
อาการ นิ่วในถุงน้ำดี ป้องกันได้อย่างไร ?
โรคนิ่วในถุงน้ำดี ก่อให้เกิดอาการอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม เราสามารถป้องกันไม่ให้โรคนิ่วในถุงน้ำดีเกิดขึ้นได้ เพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน จะช่วยทั้งป้องกัน ลดความเสี่ยงทั้งโรคนิ่วในถุงน้ำดีและโรคอื่น ๆ ที่จะตามมาได้อีกด้วยค่ะ
-
ทานอาหารให้เป็นเวลา และทานให้ครบทั้งสามมื้อ ไม่ควรอดอาหาร เพราะจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้
-
ไม่ควรลดน้ำหนักอย่างหักโหม ควรลดอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะการที่น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็วในเวลาสั้น ๆ จะเป็นการเสี่ยงทำให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้
-
รักษาสมดุลของร่างกาย ไม่ให้น้ำหนักตัวมากจนเกินไป
-
งดอาหารไขมันสูง
-
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
-
งดสูบบุหรี่ และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (วิธีเลิกบุหรี่ด้วยตัวเองง่ายๆ ให้เห็นผล แบบไม่กลับไปสูบอีก Click!!!)
จะรักษานิ่วในถุงน้ำดีได้อย่างไร
-
ใช้ยาที่มีฤทธิ์ละลายก้อนนิ่ว คอเลสเตอรอล (ภายใต้คำแนะนำของแพทย์)
-
รักษาด้วยการผ่าตัด
สรุป
นิ่วในถุงน้ำดีเป็นโรคที่น่ากลัวก็จริง แต่ทุกคนสามารถป้องกันได้ เพียงดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรง เลี่ยงอาหารที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น ของทอด ของมัน และผู้ที่เป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน หรือไขมันในเลือดสูง ควรหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และหากมีอาการผิดปกติที่น่าสงสัย ให้รีบพบแพทย์ทันที ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะหากอาการรุนแรง อาจถึงขั้นถุงน้ำดีเน่า ถุงน้ำดีแตก ก็อาจส่งผลอันตรายต่อชีวิตได้นะคะ
BED & MATTRESS PRODUCT
ใบอนุญาตโฆษณาเลขที่ ฆพ.816/2563 *อ่านคำเตือนในฉลากและเอกสารกำกับเครื่องมือแพทย์ก่อนใช้
จัดจำหน่าย บริษัท ฟาร์ ทริลเลียน จำกัด 73,75 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 89/2 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ10700