บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
เคยสงสัยไหมคะว่า อาการปวดหัวที่เป็นอยู่เกิดจากอะไร? บางทีก็ ปวดหัวข้างขวา อีกซักพักย้ายมาปวดหัวข้างซ้าย หรือบางทีก็รู้สึกว่าปวดหัวจี๊ด ๆ หรือปวดหัวตุบ ๆ อาการปวดหัวเหล่านี้กำลังบอกอะไรกับเรา? แล้วปวดแบบไหนต้องรีบไปหาหมอ? มาหาคำตอบกันในบทความนี้เลยค่ะ
สารบัญ
- ปวดหัวตำแหน่งไหนบอกอะไร?
- ถ้ามีอาการปวดหัวแบบนี้ต้องรีบไปหาหมอทันทีเลยนะ!
- 5 เทคนิคลดอาการปวดหัวเบื้องต้น
ปวดหัวข้างขวา – ข้างซ้าย ปวดหัวตำแหน่งไหนบอกอะไร?
รู้หรือไม่คะว่า ตำแหน่งและลักษณะของอาการปวดหัว สามารถบอกถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวนั้น ๆ ได้ อย่างเช่นเวลาเราไปหาหมอ หมอก็จะถามว่า ปวดหัวตรงบริเวณไหน ปวดแบบไหน และปวดมานานแค่ไหนแล้ว เพื่อทำการวินิจฉัยเบื้องต้นนั่นเองค่ะ เรามาดูกันว่า ตำแหน่งปวดหัวที่พบบ่อย ๆ เหล่านี้ บอกอะไรบ้าง (ข้อมูลจาก ผศ. พญ.แสงศุลี ธรรมไกรสร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล)
1.ปวดขมับทั้งสองข้าง หรือปวดรอบหัว ในบางรายจะปวดมากที่บริเวณหน้าผาก หรือมีการปวดลามไปจนถึงท้ายทอย ต้นคอ บ่า และไหล่ ซึ่งเป็นอาการปวดหัวที่พบได้บ่อยที่สุด เนื่องจากมีสาเหตุมาจากความเครียด ความเหนื่อยล้า พักผ่อนน้อย จนทำให้กล้ามเนื้อเกร็งและตึงตัวค่ะ
2.ปวดหัวข้างขวา หรือปวดหัวข้างซ้าย ข้างใดข้างหนึ่ง หรือปวดสลับกันทั้งสองข้าง ส่วนใหญ่จะมีอาการปวดแบบจี๊ด ๆ หรือปวดแบบตุบ ๆ หากปวดมากจะร้าวไปถึงกระบอกตา โดยอาจเป็นร่วมกับอาการอาเจียน วิงเวียน จะทวีความรุนแรงขึ้นถ้าได้รับสิ่งกระตุ้นบางอย่าง เช่น เสียงดัง แสงจ้า เป็นต้น โดยมีสาเหตุมาจากโรคไมเกรน หรือที่นิยมเรียกกันว่า ปวดไมเกรนนั่นเองค่ะ
3.ปวดหน้าผากไปจนถึงโหนกแก้ม หรือปวดดั้งจมูก โดยส่วนใหญ่จะปวดร่วมกับจุดกึ่งกลางใบหน้าอย่างหัวคิ้ว หัวตา ซึ่งบริเวณเหล่านี้คือจุดไซนัส ดังนั้นผู้ที่ปวดหัวบริเวณตำแหน่งเหล่านี้ มักจะมีอาการไซนัสอักเสบค่ะ
ตำแหน่งไซนัส จะอยู่บริเวณกลางใบหน้า เช่น หว่างคิ้ว ดั้งจมูก หัวตา โหนกแก้ม
4.ปวดบริเวณหน้าใบหู หรือกราม บริเวณข้อต่อขากรรไกร มักปวดมากช่วงตื่นนอนหรือเวลาที่เคี้ยวอาหาร อาการปวดเหล่านี้อาจมาจากการนอนกัดฟันแบบไม่รู้ตัว หรืออาจเป็นโรคข้อต่อขากรรไกรและกล้ามเนื้อบดเคี้ยว (Temporomandibular Disorders : TMDs)
5.ปวดหัวข้างใดข้างหนึ่งลามไปถึงเบ้าตาอย่างรุนแรง มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน หรือเป็น ๆ หาย ๆ โดยอาจมีร่วมกับอาการตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน ชามือชาเท้า มีไข้ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากโรคทางสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โรคเนื้องอกในสมอง โรคเยื้อหุ้มสมองอักเสบ แนะนำให้ไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน
ตำแหน่งและลักษณะอาการปวดหัวที่กล่าวข้างต้น เป็นการหาสาเหตุและปัจจัยคร่าว ๆ เท่านั้น หากพบว่าอาการปวดหัวที่เป็นอยู่เป็นบ่อยหรือนานจนผิดปกติ หรือกินยาแล้วไม่ดีขึ้น แนะนำให้เข้าพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุที่ชัดเจนและรักษาอาการปวดหัวได้อย่างตรงจุดดีกว่านะคะ และหมั่นวัดความดันโลหิตเป็นประจำ เพราะอาการปวดหัวมักสัมพันธ์กับอาการความดันสูงหรือต่ำด้วยค่ะ
ถ้ามีอาการปวดหัวแบบนี้ ต้องรีบไปหาหมอทันทีเลยนะ!
หลายคนอาจคิดว่าอาการปวดหัว เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้น่ากังวลใจอะไร แต่ต้องบอกเลยนะคะว่า อาการปวดหัวอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงก็ได้ เพราะภายในหัวมีอวัยวะสำคัญอย่างระบบประสาทและสมอง ดังนั้นไม่ใช่เรื่องที่มองข้ามได้เลยค่ะ โดยเฉพาะหากมีอาการปวดหัวแบบนี้ต้องรีบมาพบแพทย์ทันทีเลยนะคะ
- ปวดหัวรุนแรงเฉียบพลันหรือกะทันหัน แบบที่ไม่เคยปวดมาก่อน และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
- ปวดหัวเรื้อรังหรือเป็น ๆ หาย ๆ เป็นระยะเวลานาน กินยาแล้วไม่ดีขึ้น
- อาการปวดหัวรบกวนชีวิตประจำวัน ทำให้ไม่มีสมาธิทำงาน กินข้าวไม่ได้ หรือปวดจนต้องตื่นขึ้นมากลางดึก ทำให้นอนไม่หลับ
- ปวดหัวเมื่อไอ จาม ออกกำลังกาย หรือเบ่งขณะขับถ่าย
- เจ็บหรือปวดหัวหลังเกิดอุบัติเหตุ เช่น ลื่นล้ม รถชน
- มีอาการผิดปกติร่วมด้วย เช่น ผื่นขึ้น น้ำหนักลด น้ำตาไหลเวลาปวดหัว ตาแดง
- มีอาการตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน เริ่มจำอะไรไม่ได้ พูดไม่ชัด อ่านหรือเขียนหนังสือไม่ได้ หมดสติ
- มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันร่างกายไม่ดี ต้องกินยากดภูมิ
5 เทคนิคลดอาการปวดหัวเบื้องต้น
อาการปวดหัวแบบทั่วไป ที่ไม่ได้มีความรุนแรงหรืออันตรายจนถึงขั้นต้องไปพบแพทย์ สามารถบรรเทาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต บทความนี้มี 5 เทคนิคดี ๆ มาฝากกันค่ะ
- กินยาแล้วนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะการนอนหลับที่ดีต่อความต้องการร่างกาย จะช่วยทำให้อาการปวดหัวนั้นทุเลาลงได้ และไม่ควรเล่นโทรศัพท์ก่อนนอนนะคะ เพราะจะเป็นการกระตุ้นให้ปวดหัวหรือเบ้าตาได้
- ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ เพราะอาการขาดน้ำเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคไมเกรนและกล้ามเนื้อหดเกร็ง แต่ไม่ควรกินเยอะก่อนนอน เพราะจะทำให้ต้องตื่นมาเข้าห้องน้ำตอนกลางคืน ซึ่งรบกวนการนอนได้
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ และบุหรี่ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้มีผลทำให้เกิดอาการปวดหัว และยังส่งผลทำให้นอนหลับได้ไม่ดี และมีความดันโลหิตสูงอีกด้วย
- ออกกำลังกายเบา ๆ ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ลดความเครียด ระบบไหลเวียนเลือดและการหายใจดีขึ้น โดยเฉพาะการเล่นโยคะ ว่ายน้ำ วิ่งหรือเดินเบา ๆ
- นวดผ่อนคลาย ทำให้กล้ามเนื้อที่ปวดตึงจากการทำงานหนักหรือเหนื่อย คลายตัวลง ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น รู้สึกปลอดโปร่ง อาการปวดหัวก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นได้
สรุป
ตำแหน่งและลักษณะอาการปวดหัว สามารถบ่งบอกสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวนั้นได้คร่าว ๆ เพื่อให้เราสามารถกำจัดสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวนั้นได้อย่างตรงจุดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องหมั่นสังเกตอาการปวดหัวของตนเองบ่อย ๆ หากมีอาการร้ายแรงดังที่กล่าวข้างต้น ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจนะคะ เพราะอาการปวดหัวเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของภัยร้ายแรงที่กำลังจะเกิดขึ้นก็ได้