เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายก็ค่อย ๆ เสื่อมถอยลง อาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ก็ตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาท้องผูก ภาวะกลืนลำบาก เจ็บปวดตามข้อ โดยเฉพาะ อาการปวดหลัง หรือปวดก้นกบ ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยมากในผู้สูงอายุ สร้างความเจ็บปวดและความรำคาญใจให้ผู้สูงอายุไม่น้อย อีกทั้งยังทำให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้น้อยลง ส่งผลกระทบไปถึงการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ บทความนี้มีวิธีรับมือกับปัญหากวนใจนี้ง่าย ๆ มาฝากกันค่ะ
สารบัญ
- 5 วิธีรับมือ อาการปวดหลัง – ปวดก้นกบ ผู้สูงอายุทำได้ง่าย ๆ ไม่ต้องพึ่งผู้ดูแล!
- อาการปวดหลังในผู้สูงอายุ เกิดจากอะไร?
- มาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อป้องกันอาการปวดหลังกันเถอะ!
5 วิธีรับมือ อาการปวดหลัง – ปวดก้นกบ ผู้สูงอายุทำได้ง่าย ๆ ไม่ต้องพึ่งผู้ดูแล!
ผู้สูงอายุหลายคนมักเกิด อาการปวดหลัง ปวดก้นกบ หรือปวดหลังล่างอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะนั่งหรือนอนพักเท่าไหร่ก็ไม่หายปวด บทความนี้ จึงอยากจะเชิญชวนผู้สูงอายุที่ประสบปัญหากวนใจเหล่านี้ มาลองทำตาม 5 วิธีบรรเทาอาการปวดหลัง ที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้ด้วยตนเองง่าย ๆ แบบไม่ต้องพึ่งพาผู้ดูแลเลยล่ะค่ะ
1.ประคบร้อน – ประคบเย็น
สำหรับผู้สูงอายุท่านไหนที่มีอาการปวดหลังแบบเฉียบพลัน แนะนำให้ประคบเย็นด้วยน้ำแข็งหรือ Ice pack ที่บริเวณหลังประมาณ 20 นาที ทำให้ลดการไหลเวียนของเลือดบริเวณนั้น จึงช่วยลดอาการปวดได้ แต่สำหรับผู้ที่มีอาการปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรังมานาน แนะนำให้ใช้วิธีการประคบร้อน ด้วยกระเป๋าน้ำร้อนหรือจะเป็นการอาบหรือแช่น้ำร้อน ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ (อ้างอิงข้อมูลจาก นพ. สิทธิพงษ์ สุทธิอุดม โรงพยาบาลนครธน)
2.นอนราบแผ่นหลังติดพื้น
ให้ผู้สูงอายุนอนราบ โดยให้หลังสัมผัสกับเตียงนอน แล้วใช้หมอนรองบริเวณใต้เข่า เพื่อให้หลังนาบไปกับเตียงมากขึ้น หรือหากใช้เตียงไฟฟ้า ให้ปรับฟังก์ชันเตียงเป็นท่าชันเข่า (เตียงผู้สูงอายุไฟฟ้า ALLWELL นำเข้าจากต่างประเทศ ปรับท่าชันเข่าและท่าทางอื่น ๆ เพื่อช่วยดูแลสุขภาพผู้สูงอายุได้ สนใจคลิกเลย!!!) จากนั้นเกร็งหน้าท้องค้างไว้ประมาณ 10 วินาทีแล้วพัก ทำเช่นนี้ซ้ำ 2 – 3 ครั้ง ท่านี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณหลังได้ยืดเหยียดและผ่อนคลาย ช่วยลดอาการปวดได้ (อ้างอิงข้อมูลจาก นพ. สิทธิพงษ์ สุทธิอุดม โรงพยาบาลนครธน)
3.นอนราบงอเข่า
ผู้สูงอายุนอนราบบนที่เตียงนอนหรือบนพื้น โดยให้หลังสัมผัสนาบไปกับพื้น จากนั้นค่อย ๆ ยกขาข้างใดข้างหนึ่งขึ้นมา ใช้แขนรั้งขาค้างไว้ 10 วินาที จากนั้นสลับมายกขาอีกข้าง โดยใช้วิธีเดียวกัน ทำซ้ำเช่นนี้ประมาณ 2-3 ครั้ง ช่วยลดอาการปวดหลังบริเวณส่วนล่าง หรือบริเวณเอว ก้นกบ และสะโพก
4.นอนตะแคงกอดหมอนข้าง
นอนบนเตียงนอน โดยจะนอนตะแคงด้านซ้ายหรือขวาก็ได้ จากนั้นให้นำหมอนข้างมากอด (หากไม่มีหมอนข้าง ใช้เป็นหมอนหนุนแทนได้) โดยให้ขาและแขนก่ายพาดอยู่บนหมอน เพื่อไม่ให้ขาเบียดทับกัน ลดการปวดบริเวณสะโพกและหลัง และช่วยเพิ่มความดันในตับ ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น (อ้างอิงข้อมูลจาก นพ.พีระกรณ์ นิธิกรอธิวัฒน์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลวิภาวดี)
5.ดึงแขนข้ามไหล่
สำหรับผู้สูงอายุที่มีอาการปวดหลัง บริเวณส่วนบนถึงกลางหลัง ให้นำมือข้างใดข้างหนึ่งมาคว่ำแตะที่บริเวณกลางหลังให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ โดยให้ข้อศอกชี้ขึ้นบน จากนั้นให้นำมืออีกข้าง อ้อมทางด้านหลัง แล้วหงายมือเอื้อมแตะหรือจับกับมืออีกข้างที่รออยู่ด้านบนให้ได้มากที่สุด ทำค้างไว้ 10 วินาที แล้วเปลี่ยนแขน สามารถทำจนกว่าอาการปวดจะดีขึ้นได้
ชวนผู้สูงอายุมาทดสอบสมรรถภาพทางกาย เพื่อประเมินความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ กันเถอะ!อาการปวดหลัง ในผู้สูงอายุ เกิดจากอะไร?
เคยสงสัยไหมคะ? ว่าทำไมอายุยิ่งมากขึ้นยิ่งมีอาการปวดหลังบ่อยขึ้น โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ อาการปวดหลังเปรียบเสมือนเงาตามตัว ไม่ว่าจะไปที่ไหนทำอะไรเวลาไหน อาการปวดก็ไม่เคยหายไปไหน จริง ๆ แล้วอาการปวดหลังในผู้สูงอายุ ไม่ได้มาจากอายุที่เพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่าง ที่ส่งผลกับอาการปวดหลังค่ะ ลองสังเกตดูว่าอาการปวดหลังของผู้สูงอายุ เกิดจากปัจจัยเหล่านี้หรือเปล่า?
- ร่างกายที่เสื่อมถอยตามอายุ
- ยกของหนักเป็นประจำ หรือทำกิจกรรมที่ต้องก้ม ๆ เงย ๆ ตลอดเวลา
- ออกกำลังกายหักโหมหนักจนเกินไป ทำให้กล้ามเนื้อทำงานหนัก หรือเกิดจากการขาดการออกกำลังกาย ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแอ
- น้ำหนักตัวมากเกินไป
- ภาวะกระดูกพรุน
- กระดูกสันหลังเสื่อม หรือหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน
- โรคประจำตัว เช่น โรคข้ออักเสบ มะเร็ง
- ภาวะซึมเศร้า – วิตกกังวล
- สูบบุหรี่บ่อย ทำให้ร่างกายไม่สามารถลำเลียงสารอาหารไปยังหมอนรองกระดูกสันหลังได้เพียงพอ
- ที่นอนแข็งหรือนุ่มเกินไป รวมทั้งระดับความสูงของหมอนที่ไม่เหมาะสม
หากผู้สูงอายุปล่อยให้อาการปวดหลังเหล่านี้ เกิดขึ้นเรื้อรัง หรือมีอาการปวดก็ไม่ได้ทำการบำบัดลดอาการเจ็บปวด อาจจะส่งผลเสียกับผู้สูงอายุได้ ดังนี้
- ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ เพราะปวดหลังมากจนทำให้ผู้สูงอายุนอนไม่หลับ
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
- ปวดจนทุกข์ทรมาน อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้
- ผู้สูงอายุที่ใช้ยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการปวดหลัง อาจเสี่ยงทำให้เกิดผลข้างเคียงได้
- ในบางรายปวดจนไม่อยากเคลื่อนไหวทำอะไร อาจเสี่ยงทำให้เกิดภาวะพึ่งพิงหรือนอนติดเตียงสูง อาจทำให้เกิดแผลกดทับตามมาได้
หากมีอาการปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ ติดต่อกันนานเกิน 2 – 3 อาทิตย์ ร่วมกับมีอาการอื่น ๆ เช่น แขนขาชาหรืออ่อนแรง มีไข้ แน่นหน้าอก ปัสสาวะแสบขัด ปวดท้อง ให้รีบไปพบแพทย์เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายได้
มาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อป้องกัน อาการปวดหลัง กันเถอะ!
อาการปวดหลังในผู้สูงอายุ สามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงให้เกิดน้อยลงได้ค่ะ ด้วยการลดปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อกระดูกและกล้ามเนื้อ รวมทั้งปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่าง ก็ช่วยลดอาการปวดหลังได้ เรามาดูกันว่ามีอะไรบ้างค่ะ
- พยายามหลีกเลี่ยงการยกของหนัก และการทำกิจกรรมที่ต้องก้ม – เงยบ่อย ๆ
- ออกกำลังกายเบา ๆ แต่ทำเป็นประจำ
- เคลื่อนไหวบ่อย ๆ ไม่นั่งอยู่กับที่นาน ๆ
- เลิกสูบบุหรี่ (อ่านบทความ : วิธีเลิกบุหรี่ด้วยตัวเองง่ายๆ ให้เห็นผล แบบไม่กลับไปสูบอีก)
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดี ที่ช่วยเสริมสร้างมวลกระดูก
- หันมาใช้ที่นอนที่ไม่นุ่มหรือแข็งจนเกินไป หรืออาจเปลี่ยนมาใช้เตียงไฟฟ้าผู้สูงอายุ เนื่องจากมีฟังก์ชันในการปรับท่าทางต่าง ๆ ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดหลัง รวมทั้งดูแลปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ของผู้สูงอายุได้อย่างตรงจุด เช่น ท่าชันเข่าช่วยลดอาการปวดเมื่อยขา ท่านั่งช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อนและอำนวยความสะดวกในการนั่งทานอาหารหรืออ่านหนังสือได้ เป็นต้น (อ่านบทความ : เตียงปรับระดับไฟฟ้า และฟังก์ชันในการจัดท่าผู้ป่วย มีประโยชน์มากกว่าที่คุณคิด!)
สรุป
อาการปวดหลัง เป็นภาวะที่สร้างความลำบากให้กับผู้สูงอายุไม่น้อย ซึ่งหากปล่อยไว้ อาจทำให้ผู้สูงอายุได้รับผลกระทบ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ วิธีรับมือกับอาการปวดหลังข้างต้น จะช่วยลดอาการปวดหลังของผู้สูงอายุให้น้อยลงได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากมีอาการปวดหลังร่วมกับอาการที่ผิดปกติ ผู้สูงอายุควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะอาจจะเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายได้