บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น “ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้” หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
ไม่ว่าผู้ชายหรือผู้หญิง ปัญหาการ ปวดปัสสาวะบ่อย อาจเกิดขึ้นได้ แถมบางคนอาจเป็นร่วมกับอาการปัสสาวะผิดปกติ อย่างอาการปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะอักเสบ หรือมีอาการปวดท้องด้านขวาร่วมด้วย ในบางคนอาจรู้สึกปวดฉี่ตลอดเวลากลางคืน ทำให้นอนไม่หลับ ซึ่งหากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจกระทบต่อสุขภาพโดยรวมได้ มาดูว่าอาการ ปัสสาวะบ่อย และปัสสาวะผิดปกติเหล่านี้ เกิดจากอะไรกันค่ะ
สารบัญ
อาการแบบไหนเรียกว่า ปัสสาวะบ่อย?
หลาย ๆ คนที่มีอาการปัสสาวะบ่อย แต่ไม่มีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย มักไม่ค่อยรู้ตัวเองว่ามีอาการปัสสาวะบ่อย เนื่องจากความเคยชินกับพฤติกรรมเหล่านี้เป็นประจำ อย่างไรก็ตาม หลายคนที่มีความสงสัยว่า ตัวเองกำลังปัสสาวะบ่อยหรือเปล่า มาลองเช็กกันว่า พฤติกรรมการปัสสาวะแบบไหน ที่เรียกว่าบ่อยผิดปกติ
ต้องบอกก่อนว่าในแต่ละวันจำนวนการปัสสาวะโดยเฉลี่ยของคนปกติจะอยู่ที่ 6-8 ครั้งต่อวัน แต่ละครั้งจะมีปริมาตร 150-200 มิลลิลิตร โดยจำนวนนี้ จะปัสสาวะตอนกลางวัน 5-6 ครัั้ง และในเวลากลางคืน 1-2 ครั้งเท่านั้น ดังนั้น ถ้าปัสสาวะบ่อยเกินไปกว่านี้ โดยเฉพาะตอนกลางคืน ที่ปวดจนต้องตื่นมาปัสสาวะกลางดึกหลายต่อหลายครั้ง นั่นถือว่าเป็นอาการผิดปกติมาก เพราะอาจเป็นข้อบ่งชี้ถึงการเกิดโรคบางชนิดก็ได้ค่ะ
โรคเบาจืด คืออะไร? เมื่ออาการหิวน้ำบ่อย-ปัสสาวะมาก ไม่ใช่เรื่องปกติ!?ปัสสาวะบ่อย แบบไหนควรไปหาหมอ
ถึงแม้ว่าการปวดปัสสาวะบ่อยจะไม่เป็นอันตรายที่ส่งผลรุนแรงต่อสุขภาพ แต่ถ้าเกิดร่วมกับอาการเหล่านี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างละเอียด เพราะอาการเหล่านี้บ่งบอกถึงว่ามีบางส่วนของร่างกายที่ทำงานได้ไม่ปกติหรือเกิดโรคบางชนิดขึ้นนั่นเอง
อาการปัสสาวะที่ผิดปกติ
- ปัสสาวะมีเลือดปน
- การปวดฉี่กระปิดประปอย
- สีของปัสสาวะมีสีแดง สีน้ำตาลเข้ม หรือมีลักษณะขุ่น
- มีอาการเจ็บอวัยวะเพศขณะปัสสาวะ
- รู้สึกปวดท้องน้อย
- ปัสสาวะลำบากกว่าปกติ หรือปวดฉี่แต่ฉี่ไม่ออก
- ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้
- มีไข้ร่วมด้วย
ปัสสาวะบ่อย เกิดจากโรคอะไรได้บ้าง?
การปวดปัสสาวะถี่เกินไป อาจมีสาเหตุมาจากการดื่มน้ำ เครื่องดื่มคาเฟอีน น้ำผลไม้ แอลกอฮอล์ หรือรับประทานอาหาร กลุ่ม ผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศ แคนเบอร์รี พริก วาซาบิ อาหารสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ที่มีสารให้ความหวาน เป็นต้น สาเหตุอีกหนึ่งอย่างที่ทำให้ปัสสาวะบ่อย นั่นคือเป็นอาการของโรคภายในบางชนิด ดังนี้
1.โรคเบาหวาน
การเป็นโรคเบาหวาน ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดมีปริมาณสูง ทำให้ไตกรองน้ำตาลกลับเข้าร่างกายได้ไม่หมด จึงปล่อยส่วนเกินออกมาพร้อมปัสสาวะ ดังนั้นผู้ป่วยโรคนี้จึงปัสสาวะบ่อยครั้ง ในปริมาณมาก เพื่อขับน้ำตาลที่เป็นส่วนเกินออกจากร่างกาย โดยเฉพาะในเวลากลางคืน ผู้ป่วยมักลุกเข้าห้องน้ำบ่อย
2.โรคต่อมไร้ท่อผิดปกติ
อาทิ โรคเบาจืด หรือโรคคุชชิง สำหรับโรคเบาจืดนั้น เกิดขึ้นจากร่างกายสูญเสียการควบคุมของสมดุลน้ำภายในระบบ ทำให้ผู้ป่วยโรคนี้ ขับปัสสาวะออกมาในปริมาณมาก อาจมากถึง 10 ลิตรต่อวันในผู้ป่วยบางราย โรคคุชชิง มีสาเหตุมาจากการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลมากเกินปกติ ร่างกายจึงตอบสนองด้วยการปัสสาวะออกเพื่อให้ร่างกายสมดุล
3.โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ
อย่างเช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบและกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในช่วงวัย 30 – 40 ปี โรคเหล่านี้ย่อมทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดปัสสาวะบ่อย ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อ จากภายนอก และนอกจากการเข้าห้องน้ำบ่อยแล้ว ยังมีอาการปัสสาวะแสบขัดและปวดท้องด้านขวา ฉี่บ่อยร่วมด้วย
4.การตั้งครรภ์
เนื่องจากมดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้เกิดการกดทับหรือการเบียดกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้มีขนาดเล็กลง จึงจุปัสสาวะได้น้อยลง ทำให้ผู้หญิงที่เข้าสู่ภาวะนี้ต้องเข้าห้องน้ำบ่อยกว่าปกติ
5.โรคไตเรื้อรัง
เป็นอาการเตือนของโรคไตในระยะแรก ซึ่งทำให้ผู้ป่วยฉี่เป็นฟองและปวดบ่อยครั้งในเวลากลางคืน เกิดจากร่างกายสูญเสียการดึงน้ำกลับ ผู้ป่วยจึงปัสสาวะบ่อยนั่นเอง
6.โรคทางระบบสืบพันธ์
เกิดขึ้นได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ตัวอย่างเช่น การเกิดเนื้องอกขนาดใหญ่ภายในมดลูก ทำให้เกิดการเบียดกระเพาะปัสสาวะ จึงจุของเหลวได้น้อยลง หรือเกิดการอักเสบของต่อมลูกหมากในผู้ชาย
7.อาการป่วยทางจิต
อาทิ ภาวะเครียดสะสม จากการทำงาน ครอบครัว หรือความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวมักเข้าห้องน้ำบ่อยในช่วงเวลากลางวัน
8.โรคทางระบบประสาท
ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมอง หรือมีเนื้องอกเกิดขึ้น ซึ่งอาจไปกระทบเส้นประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมหูรูดของกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ไม่สามารถควบคุมการปวดปัสสาวะได้
9.โรคอ้วน
เกิดจากการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัว ทำให้แรงดันในกระเพาะปัสสาวะมากขึ้น ผู้ป่วยโรคนี้จึงเข้าห้องน้ำบ่อย แต่ภาวะนี้สามารถรักษาให้หายได้ โดยกาลดน้ำหนักลง
10.การเสื่อมของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ
ภาวะนี้ มักเกิดในผู้สูงวัย ซึ่งเกิดจากการการเสื่อมสภาพของกบ้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ยืดหยุ่นได้ไม่ดีเช่นเคย จึงเกิดการหดและรัดตัวบ่อย ทำให้ปวดปัสสาวะถี่ หรืออาจเกิดการเล็ดได้ เมื่อไอหรือจามแรงๆ
อ่านบทความ : โรคอ้วน ไม่ใช่เรื่องเล็ก อาจนำไปสู่โรคร้ายได้มากกว่าที่คิด!!สรุป
ผลกระทบของผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะปวดปัสสาวะบ่อยเกินไป เห็นได้ชัดเลยคือ ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตแย่ลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงาน ความสัมพันธ์ การเข้าสังคม ในบางคนเกิดภาวะวิตกกังวลในการเดินทางไปไกล หรือที่ที่อยู่ห่างไกลจากห้องน้ำ ทำให้การใช้ชีวิตลำบากมากขึ้น ในผู้ป่วยบางรายที่มักปวดเข้าห้องน้ำเวลากลางคืน ทำให้ไม่สามารถพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ ซึ่งหากปล่อยไว้ในระยะยาวจะส่งผลเสียต่อสภาพร่างกายและจิตใจได้