ปรอทวัดไข้ แบบแก้ว VS แบบดิจิทัล ใช้แบบไหนถึงจะดี?

ปรอทวัดไข้

         สถานการณ์โควิด-19 ดูจะไม่คลี่คลายลงง่าย ๆ หลายคนคงเห็นว่าตามสถานที่ต่าง ๆ มีการตรวจคัดกรอง ด้วยการ “วัดอุณหภูมิร่างกาย” ใช่แล้วล่ะค่ะ จุดสำคัญในการจับไวรัสโคโรน่า คืออุณหภูมิในร่างกายที่สูงกว่าปกติ หรืออาการไข้นั่นเอง แต่การใช้มือทาบหน้าผาก – ทาบคอ เพื่อวัดความร้อน ไม่สามารถการันตีได้นะคะว่ามีไข้หรือเปล่า ดังนั้น เพื่อให้ทราบระดับอุณหภูมิ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ ปรอทวัดไข้ หรือเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย เรามาดูกันว่า ควรใช้ปรอทวัดไข้อย่างไรให้ถูกต้อง และปรอทวัดไข้แบบไหนเหมาะสมกับคุณมากที่สุด

ปรอทวัดไข้

สารบัญ

ปรอทวัดไข้ แบบดิจิทัล VS แบบแก้ว มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันอย่างไร?

         ถ้าพูดถึงปรอทวัดไข้ หรือเครื่องวัดอุณหภูมิ ก็มีให้เลือกใช้หลายแบบเลยค่ะ ทั้ง ปรอทวัดไข้ ราคา ถูกและแพง แต่ถ้าสำหรับใช้ตรวจวัดที่บ้าน จะนิยมใช้แบบแก้วและแบบดิจิทัลมากที่สุด เนื่องจากใช้งานและหาซื้อได้ง่าย และมีความแม่นยำสูง ซึ่งหลายคนก็ยังมีความลังเลอยู่ว่าควรใช้แบบแก้วหรือแบบดิจิทัลดี?

ปรอทวัดไข้

         หากเปรียบเทียบปรอทวัดไข้แบบแก้วกับแบบดิจิทัล ในเรื่องของความแม่นยำ ทั้งสองแบบมีความแม่นยำใกล้เคียงกันเลยค่ะ แต่จะมีความแตกต่างกันไปในเรื่องของราคา และการใช้งานต่าง ๆ

ปรอทวัดไข้แบบแก้ว

  • ข้อดี : ราคาไม่แพง
  • ข้อเสีย : ก่อนใช้งานจะต้องเช็กทุกครั้งว่า แถบบอกอุณหภูมิอยู่ต่ำกว่า 36 องศาเซลเซียส ด้วยการสะบัดปรอทวัดไข้ก่อนใช้งาน อีกทั้งยังอ่านค่าได้ยาก นอกจากนี้ วัสดุที่ทำจากแก้วมีความเปราะบางแตกหักได้ง่าย และมีสารปรอท ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย จึงไม่เหมาะสำหรับเด็กเล็ก เพราะอาจเกิดอันตรายหากไม่อยู่นิ่งได้

ปรอทวัดไข้แบบดิจิทัล

  • ข้อดี : ใช้งานง่ายแค่เพียงกดปุ่ม แล้วรอผล อีกทั้งยังอ่านค่าได้ง่าย เนื่องจากบอกตัวเลขได้อย่างชัดเจนผ่านทางหน้าจอ ตัววัสดุมีความยืดหยุ่น ไม่แตกหักง่าย และไม่มีสารปรอท จึงเหมาะสำหรับผู้ใช้งานทุกช่วงอายุ
  • ข้อเสีย : ราคาแพงกว่าแบบแก้ว

จะเห็นได้ว่า ปรอทวัดไข้แบบแก้วจะมีผลเสียมากกว่าแบบดิจิทัล โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีความชำนาญในการใช้งาน เพราะอาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้ แม้ปรอทวัดไข้แบบดิจิทัล จะมีราคาแพงกว่าแบบแก้ว แต่หากแลกมาด้วยความปลอดภัย ยังไงแบบดิจิทัลก็คุ้มค่าที่จะซื้อมากกว่านะคะ

อันตรายจากการใช้ ปรอทวัดไข้ แบบแก้ว

         ปรอทวัดไข้แบบแก้ว เป็นอุปกรณ์วัดอุณหภูมิร่างกายที่ใช้กันอย่างมายาวนาน แต่รู้หรือไม่คะว่า ปัจจุบันกำลังมีแผนการให้ทุกประเทศเลิกใช้ปรอทวัดไข้แบบแก้ว เพราะสารปรอท สามารถสร้างอันตรายให้กับร่างกายมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมได้นะคะ

เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย

         เนื่องจากภายในปรอทวัดไข้แบบแก้ว มีสารปรอทบรรจุอยู่ ซึ่งนับเป็นสารพิษอันตรายชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ หากมนุษย์ได้รับสารปรอทมากเกินไป จะเกิดอาการเป็นพิษต่อร่างกาย ซึ่งสามารถแบ่งอาการออกได้เป็นสองแบบ คือ

1.แบบเฉียบพลัน เกิดจากการที่ร่างกายได้รับสารปรอท ในปริมาณมาก จะเกิดอาการเช่น กระหายน้ำ ปัสสาวะน้อยลง เกิดแผลในปาก หายใจลำบาก ปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียน ถ่ายเหลวมีเลือดปน

2.แบบเรื้อรัง เกิดจากการที่ร่างกายได้รับสารปรอทเป็นประจำและสะสมเป็นเวลานาน จะเกิดอาการเช่น ปากเป็นแผลอักเสบเรื้อรัง เหงือกบวม ฟันโยก มีอาการมือสั่น มีน้ำลายออกมาก การรับรสเปลี่ยนไป

         สารปรอทนี้ จะเป็นอันตรายอย่างมากต่อหญิงตั้งครรภ์และเด็กเล็กนะคะ เพราะสารปรอท จะเข้าไปทำลายระบบประสาทของเด็ก ทำให้เด็กมีความสามารถในการเรียนรู้ลดลง เกิดอาการชัก ตาบอด หูหนวก ซึ่งหากเป็นอาการเหล่านี้แล้ว จะ ไม่สามารถรักษาให้หายได้ค่ะ

ทำอย่างไรหากปรอทวัดไข้แบบแก้วแตก?

         ถ้าเกิดทำปรอทวัดไข้แตก อย่าชะล่าใจคิดว่าไม่เป็นอะไรนะคะ ถึงแม้สารปรอทเหล่านี้ จะไม่มีสีไม่มีกลิ่น แต่สามารถระเหิดเป็นไอ ทำให้เกิดอันตรายกับระบบทางเดินหายใจ และปอดได้ ดังนั้น หากปรอทวัดไข้แบบแก้วแตก ควรรีบปฏิบัติดังนี้ค่ะ

ที่วัดไข้

  • หากปรอทวัดไข้แตกในขณะวัดทางปาก จนทำให้สารปรอทไหลเข้าไปภายในช่องปาก ให้รีบบ้วนออก และไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด อาจจำเป็นต้องล้างท้อง หรือรับประทานยาที่ทำให้เกิดอาเจียน
  • หากปรอทวัดไข้ตกแตก ให้รีบออกจากบริเวณนั้นให้เร็วที่สุด
  • ห้ามใช้ไม้กวาด กวาดสารปรอทที่ไหลออกมา เนื่องจากจะทำให้สารปรอทติดอยู่กับไม้กวาด ซึ่งอาจกระจายไปบริเวณอื่น ๆ ได้
  • ห้ามใช้เครื่องดูดฝุ่นดูดสารปรอท เพราะจะทำให้สารปรอทตกค้างในเครื่องดูดฝุ่น และความร้อนจากเครื่อง จะทำให้สารปรอทระเหิด และเข้าสู่ทางเดินหายใจ
  • ให้สวมผ้าปิดปากปิดจมูก และใช้กระดาษแข็งกวาดสารปรอทมารวมกัน ตักใส่ภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด และนำไปทิ้งในขยะที่เป็นถังทิ้งขยะอันตราย
  • เปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทสะดวกอย่างน้อย 2 วัน

จะเห็นได้ว่าสารปรอท เป็นอันตรายต่อร่างกายเป็นอย่างมากเลยนะคะ นอกจากนี้วัสดุที่เป็นแก้ว อาจสร้างอันตรายได้เช่นกัน ดังนั้น แนะนำให้หันมาใช้ปรอทวัดไข้แบบดิจิทัล หรือเครื่องวัดอุณหภูมิแบบอื่น ๆ จะปลอดภัยมากกว่านะคะ

คลิก! อ่านบทความ : เครื่องวัดอุณหภูมิหน้าผาก แบบอินฟราเรดใช้คัดกรองโควิด-19 ได้จริงไหม?

ใช้งาน ปรอทวัดไข้ อย่างไรให้ถูกต้อง

         การวัดอุณหภูมิร่างกาย หากเราใช้ไม่ถูกต้อง อาจทำให้ได้ผลลัพธ์ที่คลาดเคลื่อน หรืออาจจะบาดเจ็บกับผู้ใช้ได้ ดังนั้น การวัดอุณหภูมิร่างกายด้วยปรอทวัดไข้ มีวิธีที่ถูกต้อง ดังนี้ค่ะ

ปรอทวัดไข้

1.การวัดอุณหภูมิทางช่องปาก : เป็นวิธีการตรวจวัดอุณหภูมิที่นิยมใช้มากที่สุด เหมาะสำหรับผู้ใหญ่หรือเด็กที่สื่อสารได้รู้เรื่องแล้ว ซึ่งหากใช้ปรอทวัดไข้แบบแก้ว ควรหลีกเลี่ยงการใช้กับเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ เพราะมีความเสี่ยงที่เด็กอาจจะกัดปรอทแตกได้

  • หากวัดไข้เด็ก ควรตรวจดูภายในช่องปากว่าไม่มีสิ่งใดตกค้างอยู่ เช่น ลูกอม หมากฝรั่ง ขนม
  • หลีกเลี่ยงการวัดอุณหภูมิทันที หลังการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่ม เพราะอาจมีผลต่ออุณหภูมิที่วัดได้ จึงควรรอเวลาอย่างน้อย 20 – 30 นาที
  • นำปรอทวัดไข้สอดเข้าไปในปาก โดยให้บริเวณส่วนปลายที่วัดอยู่บริเวณใต้ลิ้น แล้วปิดปากให้สนิท รอจนสัญญาณเสียงดังขึ้น แล้วอ่านค่าที่ปรากฏบนหน้าจอ แต่หากเป็นปรอทวัดไข้แบบแก้ว ให้รอประมาณ 3 – 4 นาที จนแถบสารปรอทหยุดนิ่ง จึงอ่านค่าที่ได้

ปรอทวัดไข้

2.การวัดอุณหภูมิทางรักแร้ เป็นการวัดอุณหภูมิ โดยให้ปรอทวัดไข้ไว้ที่รักแร้ ซึ่งค่าอุณหภูมิปกติจะต่ำกว่าการวัดทางปาก การวัดอุณหภูมิวิธีนี้ เป็นวิธีที่ง่ายและสะดวก เหมาะสำหรับเด็กแรกเกิดและเด็กเล็ก

  • หลีกเลี่ยงการวัดหลังการอาบน้ำ หรือสวมเสื้อผ้าที่รัดแน่น เพราะอาจส่งผลต่ออุณหภูมิที่วัดได้
  • นำปรอทวัดไข้สอดเข้าไปใต้รักแร้ โดยให้ส่วนปลายอยู่กึ่งกลางรักแร้ และไม่เลยออกไปด้านหลัง
  • จากนั้นหนีบปรอทวัดไข้ไว้สักพัก รอจนสัญญาณเสียงดังขึ้น แล้วอ่านผลลัพธ์ที่ได้บนหน้าจอ แต่ถ้าเป็นปรอทวัดไข้แบบแก้ว ให้รออย่างน้อย 4 นาที จนแถบสารปรอทหยุดนิ่ง แล้วจึงอ่านค่า

ปรอทวัดไข้

3.การวัดอุณหภูมิทางทวารหนัก เป็นการวัดอุณหภูมิ โดยการสอดปรอทวัดไข้เข้าไปทางทวารหนัก ซึ่งค่าอุณหภูมิปกติจะสูงกว่าการวัดทางปาก เป็นวิธีที่นิยมใช้ในเด็กแรกเกิดและเด็กเล็ก แต่หากใช้วิธีนี้ ควรทำอย่างระมัดระวังหรือมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแล เพราะอาจเกิดการบาดเจ็บได้

  • นำปรอทวัดไข้ที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคแล้ว ทาสารหล่อลื่น เพื่อช่วยลดการเสียดสีที่อาจทำให้เจ็บ
  • หากวัดเด็ก ให้จับเด็กนอนคว่ำลงบนบริเวณหน้าตักหรือพื้นที่ราบเรียบ หรือให้เด็กนอนหงาย จับขาทั้ง 2 ข้างยกขึ้น
  • จากนั้นปรอทวัดไข้เข้าไปทางทวารหนัก ลึกประมาณ 1.25 – 2.5 เซนติเมตร อย่างเบามือ ระวังไม่ให้สอดลึกจนเกินไป จากนั้นถือปรอทวัดไข้ค้างไว้สักครู่ รอจนสัญญาณเสียงดังขึ้น แล้วอ่านค่า หากเป็นปรอทวัดไข้แบบแก้ว ควรรออย่างน้อย 2 นาที จนกว่าแถบสารปรอทจะหยุดนิ่ง จึงอ่านค่าอุณหภูมิที่ได้

การวัดอุณหภูมิ อาจเลือกวัดตามความสะดวก หรือแล้วแต่สถานการณ์ หากวัดอุณหภูมิเด็กเล็กและทารก มักจะใช้การวัดทางทวารหนักหรือทางรักแร้ เพราะเป็นวัยที่อยู่นิ่งค่อนข้างยาก ซึ่งก่อนวัดอุณหภูมิควรทำความสะอาดปรอทวัดไข้ทั้งก่อนและหลังการใช้ด้วยแอลกอฮอล์นะคะ

สินค้า COVID ลดราคา สั่งซื้อผ่านไลน์ คลิก

อุณหภูมิแบบไหนถึงเรียกว่าปกติ?

         อุณหภูมิปกติของผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรงจะอยู่ระหว่าง 36.5 – 37.2 องศาเซลเซียส ในเด็กเล็กอาจมีอุณหภูมิปกติต่างกับผู้ใหญ่อยู่ 1 – 2 องศาเซลเซียส ในระหว่างวันอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในร่างกายได้เล็กน้อยจากหลายปัจจัย เช่น ช่วงเช้าจะวัดอุณหภูมิร่างกายได้ต่ำกว่าช่วงบ่าย ซึ่งการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายแต่ละตำแหน่ง จะมีเกณฑ์ค่าอุณหภูมิปกติที่แตกต่างกันไป

อุณหภูมิร่างกายปกติ

  • การวัดอุณหภูมิทางปาก ค่าปกติจะอยู่ที่ 35.5 – 37.5 องศาเซลเซียส
  • การวัดอุณหภูมิทางทวารหนัก ค่าปกติจะอยู่ที่ 36.6 – 38 องศาเซลเซียส
  • การวัดอุณหภูมิทางรักแร้ ค่าปกติจะอยู่ที่ 34.7 – 37.3 องศาเซลเซียส

         หากอุณหภูมิที่วัดออกมาสูงหรือต่ำกว่านี้ แสดงว่าร่างกายอาจมีความผิดปกติ แต่ถึงอย่างนั้น ก็ควรพิจารณาหลาย ๆ ปัจจัยประกอบนะคะ ไม่ควรดูเฉพาะค่าอุณหภูมิที่วัดได้เท่านั้น เช่น อาการปวดหัว เป็นผื่นตามตัว ปวดท้อง หากมีอาการแปลก ๆ เหล่านี้ร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและทางรักษาต่อไป

สรุป

         ในสถานการณ์ร้ายแรงอย่างการระบาดของไวรัสโควิด – 19 นี้ การดูแลป้องกันตนเองเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดนะคะ หนึ่งในการดูแลป้องกันที่มองข้ามได้ คือ การเฝ้าระวังอุณหภูมิภายในร่างกาย และเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ จำเป็นจะต้องวัดอย่างถูกวิธีนะคะ เพราะหากใช้ไม่ถูกต้อง นอกจากจะได้ผลลัพธ์ที่คลาดเคลื่อนแล้ว อาจเกิดอันตรายต่อผู้ใช้งานได้นะคะ

BED & MATTRESS PRODUCT

ใบอนุญาตโฆษณาเลขที่ ฆพ.816/2563 *อ่านคำเตือนในฉลากและเอกสารกำกับเครื่องมือแพทย์ก่อนใช้

จัดจำหน่าย บริษัท ฟาร์ ทริลเลียน จำกัด 73,75 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 89/2 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ10700

ใส่ความเห็น

Website ของเรามีการเก็บ cookies เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ... อ่านเพิ่มเติม นโยบายคุกกี้

Close Popup