ขากระตุกขณะหลับ เกิดจากอะไร? กระตุกแบบไหนอันตราย

ขากระตุกขณะหลับ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น “ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้” หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

         สำหรับใครที่กำลังเผชิญปัญหา ขากระตุกขณะหลับอยู่เป็นประจำ ซึ่งรบกวนการนอนหลับของคุณในตอนกลางคืนเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ง่วงซึม ไม่สดใสในตอนเช้า ภาวะนี้มักเกิดขึ้นเอง โดยที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวเลยด้วยซ้ำ

         ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัยที่กระตุ้นให้ร่างกายเกิดความเครียด สามารถเกิดได้ในทุกวัย แต่พบมากในผู้สูงอายุ และในกลุ่มคุณแม่ตั้งครรภ์ โดยภาวะนี้ไม่ส่งผลอันตรายเฉียบพลันใด ๆ แต่ไม่ควรปล่อยไว้ เพราะจะไปรบกวนเวลานอน และส่งผลให้สุขภาพเสียได้ในระยะยาว

สารบัญ

เช็กอาการขากระตุกขณะหลับ

         อาการขากระตุกขณะหลับ เป็นที่รู้จักทางการแพทย์ว่า Periodic Limb Movement Disorder หรือPLMD ซึ่งมีอาการกระตุกของกล้ามเนื้อขาเป็นประจำ ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดเวลากลางคืน ในขณะที่นอนหลับ ส่งผลให้ผู้ที่กำลังประสบปัญหากับภาวะนี้ ต้องตื่นขึ้นมากลางดึกบ่อย ๆ และมีอาการร่วมต่าง ๆ ดังนี้

ขากระตุกขณะหลับ

อาการขากระตุกขณะหลับ

  • เกิดการกระตุกกล้ามเนื้อ เป็นจังหวะ ในทุก ๆ 20 – 40 นาที ทำให้ต้องตื่นกลางดึกบ่อยครั้ง
  • มักแสดงอาการบริเวณขา เข่า สะโพก แขน แต่ในอวัยวะส่วนอื่น ๆ ก็สามารถเกิดได้เช่นกัน
  • ความรุนแรงของการกระตุกเทียบเท่ากับการเตะหรือสะบัด มีบางรายที่มีการกระตุกคล้ายกับการกระดิก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล
  • อ่อนเพลีย ไม่ตื่นตัว ง่วงนอน ในเวลากลางวัน เนื่องจากนอนไม่อิ่มในตอนกลางคืน

ขากระตุกขณะหลับในผู้สูงอายุ เกิดจากอะไร

         มาสำรวจถึงสาเหตุของการเกิดอาการ ขากระตุกขณะหลับ กันว่ามีต้นตอมาจากสาเหตุใด จากการศึกษาทางการแพทย์ในปัจจุบัน พบว่า ภาวะขากระตุกขณะหลับ เกิดจากความไม่ปกติของระบบประสาทส่วนกลาง และมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง ที่ส่งผลให้เกิดอาการขากระตุก ตัวอย่างเช่น

ขากระตุกขณะหลับ

1.โรคที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ

ในผู้มีภาวะขากระตุกขณะหลับ อาจเกิดร่วมกับโรคลมหลับ โรคขาอยู่ไม่สุข หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ผู้ที่มีอาการขากระตุก มักเป็นผู้ป่วยในกลุ่มเหล่านี้

2.การมีโรคประจำตัว

มีโรคบางชนิดที่กระตุ้นให้เกิดภาวะนี้ เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคจากความบกพร่องของเมตาบอลิซึม โรคสมาธิสั้น หรือความผิดปกติของเส้นประสาทไขสันหลัง ซึ่งอาจมีอาการบาดเจ็บเกิดขึ้น หรือมีเนื้องอกในไขสันหลัง เป็นต้น

3.การรับสารเคมีหรือยาบางชนิด

อาการขากระตุกในผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่มักเกิดจากการทานยาบางชนิดเป็นประจำ เช่น ยารักษาโรคซึมเศร้า ยาแก้แพ้ ยาระงับประสาท การใช้ยาแก้เวียนหัวหรือยากันชักบางชนิด หากเป็นเพราะสาเหตุนี้ ควรปรึกษาแพทย์ถึงผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น เพื่อปรับเปลี่ยนยาให้เหมาะสมมากขึ้น อาการกระตุกจะได้บรรเทาลงบ้าง

4.ปัจจัยกระตุ้นอื่น ๆ

ตัวอย่างเช่น การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูง กาแฟ ชานมไข่มุก แอลกอฮอล์ เป็นต้น หรือการวิตกกังวลมากเกินไป จนเกิดความเครียดสะสม สิ่งเหล่านี้มักเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้อาการขากระตุกหายได้ช้าลง และยังกระตุ้นให้เกิดขึ้นบ่อย ๆ อีกด้วย

อ่านบทความ : นอนกรน ต้นเหตุของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ แก้ได้ด้วยเตียงไฟฟ้าจริงเหรอ?!

อันตรายที่เกิดจากภาวะขากระตุกขณะหลับ

         อย่างที่บอกไปในตอนแรกว่า ภาวะนี้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายเฉียบพลันใด ๆ  จึงไม่ต้องกังวลเลยว่าจะเป็นอันตรายต่อชีวิต แต่จะส่งผลในเรื่องสุขภาพและเรื่องอื่น ๆ ในระยะยาว ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อตัวเราเองและคนรอบข้าง ตัวอย่างเช่น

ขากระตุกขณะหลับ

1.นอนไม่หลับ

ใครก็ตามที่กำลังประสบปัญหานี้อยู่ จะสังเกตได้เลยว่ามีอาการนอนไม่เต็มอิ่ม อ่อนเพลีย ไม่สดใส ซึ่งเกิดจากการอาการกระตุกของกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นหลายครั้ง ในตอนกลางคืน ทำให้หลับไม่สนิทหรือต้องตื่นขึ้นมากลางดึก จนไม่สามารถหลับต่อได้

2.รบกวนการนอนของผู้อื่น

หากนอนคนเดียวเป็นประจำ จะไม่ส่งผลต่อคนอื่นรอบตัวเลย แต่หากไม่ใช่ อาการขากระตุกขณะนอนหลับ อาจเป็นปัญหาให้คนที่นอนร่วมเตียง ต้องตื่นขึ้นมากลางดึกหรือหลับไม่สนิทด้วย ในระยะยาวอาจทำให้เป็นปัญหาความสัมพันธ์ที่ไม่สามารถแก้ไขได้

3.สุขภาพย่ำแย่

เนื่องจากการนอนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะร่างกายจะได้พักผ่อน ฟื้นฟูกล้ามเนื้อและระบบอวัยวะต่าง ๆ ที่ทำงานอย่างหนักมาทั้งวัน เมื่อเกิดการกระตุกขึ้นกลางดึก เท่ากับว่าการฟื้นฟูต้องหยุดชะงักลง จึงอาจเป็นจุดเริ่มต้นในการเกิดโรค เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิดสูง โรคเบาหวาน หรือโรคอื่น ๆ ตามมา

วิธีแก้อาการขากระตุกขณะหลับ ทำได้อย่างไรบ้าง?

         วิธีแก้อาการขากระตุกที่สามารถทำได้ด้วยตัวเองเบื้องต้น เริ่มจากการปรับพฤติกรรมบางอย่าง เช่น งดรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่ม ที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ เนื่องจากคาเฟอีนจะไปกระตุ้นให้ภาวะนี้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น รวมถึงทานอาหารที่มีธาตุเหล็กและกรดโฟลิคให้สูงขึ้น

วิธีแก้อาการขากระตุก

         ธาตุเหล็กและกรดโฟลิคจะลดการเกิดภาวะขากระตุกขณะหลับได้ แต่ถ้าหากปรับพฤติกรรมเหล่านี้แล้วยังเกิดการกระตุกอย่างต่อเนื่อง การรักษาด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด โดยส่วนใหญ่มักเป็นการรักษาด้วยการทานยา เช่น กลุ่มยาที่คลายความวิตกกังวล คลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น

สรุป

         อย่างไรก็ตาม คงได้คำตอบกันไปแล้วว่า อาการขากระตุกเกิดจากอะไร มีสาเหตุมาจากไหน และก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของเราอย่างไรบ้าง สำหรับผู้ที่ไม่รุนแรงและการกระตุกไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย การปรับพฤติกรรมบางอย่างจะช่วยให้หายขาดได้เอง

         แต่หากการกระตุกเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาโดยเร็ว เพื่อให้เรามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ไม่อ่อนเพลีย ง่วงซึม หรือไม่สดชื่น ในตอนตื่น และเพื่อไม่ให้กระทบกับการใช้ชีวิต ความสัมพันธ์ต่าง ๆ หรือคนรอบข้างของเราได้

บทความที่น่าสนใจ เพิ่มเติม

Website ของเรามีการเก็บ cookies เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ... อ่านเพิ่มเติม นโยบายคุกกี้

Close Popup