บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น “ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้” หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
สลักเพชรจมกับหนึ่งกลุ่มอาการของออฟฟิตซินโดรมที่น้อยคนนักจะรู้จัก หากไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเกิดโรค หรือ อาการดังกล่าวนี้ขึ้นกับตน จนบางท่านคิดว่าสลักเพชรจมเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจิวเวอรี่หรือวงการเครื่องประดับด้วยซ้ำ ในบทความนี้เราจะขอพาทุกท่านไปทำความเข้าใจและรู้จักกับสลักเพชรจม ซึ่งเป็นอีกกลุ่มโรคที่ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งสามารถรักษาได้ไว
สารบัญ
- สลักเพชรจม คือ โรคอะไร?
- สลักเพชรจม เกิดจากอะไร?
- ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นสลักเพชรจม
- อาการสลักเพชรจมเป็นอย่างไร
- วิธีแก้อาการสลักเพชรจม ที่สามารถทำได้
- วิธีป้องกันการเกิดอาการสลักเพชรจม
สลักเพชรจม คือ โรคอะไร?
สลักเพชรจม หรือ โรคกล้ามเนื้อหนีบเส้นประสาท หรือ Piriformis Syndrome เป็นโรคหรือกลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกับสลักเพชร หรือพิริฟอร์มิส ซึ่งสลักเพชร คือ กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ในการรักษาสมดุลของสะโพกทั้งสองให้สามารถเคลื่อนที่เคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ต้องการได้อย่างอิสระ
แต่เมื่อใดก็ตามที่กล้ามเนื้อซึ่งอยู่ใกล้กับสะโพกบริเวณก้นนี้เกิดความผิดปกติก็ทำให้เกิดผลต่ออวัยวะโดยรอบ และ เกิดความปวดของแก้มก้นร้าวลงไปถึงขาได้ นอกจากนี้ก็อาจทำให้เกิดความไม่คล่องตัวในการเคลื่อนที่เคลื่อนย้ายสะโพกเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการนอน การนั่ง การเดิน การวิ่ง หรือแม้แต่การขับขี่ยวดยานพาหนะ
สลักเพชรจม เกิดจากอะไร?
หลังจากที่เราทราบกันไปแล้วว่าอาการสลักเพชรจมคือโรคหรืออาการอะไรกันไปแล้ว เรามาดูกันต่อเลยค่ะว่า อาการสลักเพชรจม นั้นเกิดมาจากอะไรได้บ้าง นั่งทำงานนาน ๆ จะเป็นไหม ซึ่งการเกิดอาการสลักเพชรจม เกิดได้จากสาเหตุหลัก ๆ 4 สาเหตุด้วยกัน คือ
ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการสลักเพชรจม
- ความอ่อนล้าของกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่สำคัญในการควบคุมขา โดยเฉพาะการหดขา และ การเหยียดขา
- การรองรับน้ำหนักตัวที่มากเกินไปของกล้ามเนื้อ Piriformis
- ความตึงตัวเกินพอดี ซึ่งอาจเกิดจากสารสื่อประสาท หรือ เส้นประสาทภายในของกล้ามเนื้อ Piriformis
- การต้องนั่งในอิริยาบทเดิม ๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน
ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นสลักเพชรจม
ผู้ที่มีความเสี่ยงในการปวดสลักเพชรไม่ได้เป็นเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่สามารถเป็นได้กับทุกเพศทุกวัย ที่มักจะเป็นผู้ที่ต้องอยู่ในอิริยาบทในการนั่ง ที่ต้องนั่งติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงก็มักจะมีกลุ่มคน ดังต่อไปนี้
กลุ่มเสี่ยงการเกิดอาการสลักเพชรจม
- คุณแม่หลังคลอดที่ต้องนั่งปั๊มนม หรือ นั่งให้นมบุตรติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ
- ผู้ที่ประกอบอาชีพในการขับขี่ยวดยานพาหนะที่มักต้องเกร็งขา และ นั่งหลังพวงมาลัยติดต่อกันทั้งวัน
- สาว ๆ หนุ่ม ๆ ชาวออฟฟิตที่ต้องนั่งติดโต๊ะทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน
- การยกของหนัก หรือ การยกของผิดท่า
อาการสลักเพชรจมเป็นอย่างไร
การเกิดอาการสลักเพชรจม นอกจากจะเกิดอาการที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดบริเวณช่วงสะโพกแล้วนั้น ยังเพิ่มความยุ่งยาก และความลำบากในการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคลได้ ซึ่งหากไม่ได้ทำการรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม ก็อาจจะส่งผลระยะยาวได้ โดยอาการสลักเพชรจม มีดังนี้
อาการสลักเพชรจม
- อาการปวด โดยเฉพาะช่วงของแก้มก้น สะโพก ในบางรายก็เกิดการปวดแบบร้าวไปจนถึงขา
- อาการเจ็บ ซึ่งจะปรากฎอาการเจ็บอย่างเด่นชัดเมื่อกดบริเวณสะโพก
- อาการชาที่มักเกิดขึ้นในบริเวณเดียวกับที่เกิดอาการปวด แต่อาการชาจะเด่นชัดเป็นอย่างมากในบริเวณขา
- คลำเจอก้อน โดยก้อนดังกล่าวนี้จะสามารถสัมผัสได้เป็นก้อนขนาดเล็กในบริเวณก้นกบ
- การเกิดอาการที่รุนแรง โดยอาการในข้อ 1 – 3 สามารถทวีความรุนแรงขึ้นได้ หากนั่งในอิริยาบทเดิม ๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน รวมไปถึงเมื่อเกิดการยืดของกล้ามเนื้อ Piriformis ที่มากเกินพอดี
วิธีแก้อาการสลักเพชรจม ที่สามารถทำได้
หากเราหลีกเลี่ยงการใช้ชีวิตประจำวันที่เสี่ยงจะเกิดอาการสลักเพชรจมแล้ว แต่ก็ไม่วายที่จะยังเกิดอาการนี้อยู่ เราก็ได้รวบรวมวิธีการแก้สลักเพชรจม โดยปัจจุบันได้มีวิธีการทางการแพทย์แผนปัจจุบันที่รองรับอย่างหลากหลาย ซึ่งมีวิธีดังนี้
วิธีแก้อาการสลักเพชรจม
- การใช้ Deep Ultrasound ซึ่งจัดเป็นการบรรเทาอาการเจ็บ และ อาการปวดที่เกิดขึ้น พร้อม ๆ ไปกับการทำให้เกิดความผ่อนคลายของกล้ามเนื้อบริเวณ Piriformis
- การใช้ Heat Therapy จะมีผลดีใกล้เคียงกับวิธีแรก เพียงแต่จะเน้นไปที่การทำให้เกิดความผ่อนคลายของกล้ามเนื้อบริเวณสะโพก และ กล้ามเนื้อบริเวณก้น
- การประคบร้อน โดยใช้การประคบร้อนบริเวณก้นเป็นเวลา 15 – 20 นาที เพื่อให้เกิดการไหลเวียนโลหิตที่เพิ่มมากขึ้น พร้อม ๆ ไปกับการผ่อนคลายของกล้ามเนื้อในบริเวณดังกล่าว
- การออกกำลังกาย หลาย ๆ ท่านอาจคิดว่าหากเกิดการปวดสลักเพชรร้าวลงขาแล้วก็ไม่ควรที่จะออกกำลังกาย แต่อันที่จริงแล้วการออกกำลังกายด้วยท่าทางและแรงที่เหมาะสมจะทำให้กลามเนื้อเกิดการยืด และ การหดตัว จนเกิดเป็นการคลายตัวในจังหวะที่เหมาะสม ทำให้เกิดสมดุลกล้ามเนื้อจนไม่ให้เจ็บหรือ ปวดอีกต่อไป
- การทำกายภาพบำบัด ซึ่งคุณก็สามารถเลือกได้ทั้งการทำกายภาพบำบัดด้วยตนเอง หรือ การมีนักกายภาพบำบัดมาคอยกายภาพให้ ซึ่งวิธีหลังจะค่อนข้างเห็นผลที่ไวกว่า
วิธีป้องกันการเกิดอาการสลักเพชรจม
สลักเพชรจมมักมีสาเหตุมาจากการต้องอยู่ในอิริยาบทนั่งติดต่อกันเป็นเวลานานในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นด้วยหน้าที่ หรือด้วยลักษณะของการทำงานร่วมด้วย ซึ่งวิะีการป้องกันการเกิดอาการสลักเพชรจมที่ดีที่สุดนั้น สามารถป้องกันได้จากการทำวิธีดังต่อไปนี้
วิธีการป้องกันอาการสลักเพชรจม
- การหมั่นเปลี่ยนอิริยาบทในทุก ๆ 1 – 2 ชั่วโมง เพื่อให้กล้ามเนื้อ Piriformis ได้ว่างเว้นจากการรองรับน้ำหนักของร่างกายเราบ้าง
- การหมั่นออกกำลังกาย โดยเฉพาะการเล่นโยคะซึ่งมีท่าโยคะที่ถูกออกแบบมาเพื่อจัดการกับปัญหาสลักเพชรนี้โดยเฉพาะ
- ในคุณแม่ให้นมบุตร ควรมีการเปลี่ยนท่าสลับไปมาบ้าง
สรุป
โรคสลักเพชรจมเป็นโรคที่มีความเกี่ยวเนื่องกับระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ซึ่งมีความยืดหยุ่นและสามารถทำกายภาพ หรือ ทำการรักษาให้หายขาด รวมถึงยังมีแนวทางที่สามารถป้องกันการเกิดกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาทนี้
เพียงแต่ตัวคุณเองต้องทราบก่อนว่าอาการที่เกิดขึ้นกับคุณเป็นอาการของโรคดังกล่าว และยิ่งคุณรู้ตัวว่าเป็นเร็วเท่าไร ความรุนแรงของโรค และ การรักษาก็จะเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันไป ดังนั้นการหมั่นดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง และ การตรวจสุขภาพประจำปีก็นับเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นสำหรับทุกท่านเป็นอย่างมาก