คู่มือตามหาคนหาย! เมื่อผู้ป่วยอัลไซเมอร์หายออกจากบ้าน-หลงทาง ผู้ดูแลต้องรับมือยังไง?!

ตามหาคนหาย ผู้ป่วยอัลไซเมอร์หาย หลงทาง

         อีกหนึ่งปัญหาที่พบบ่อยมากในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ คือปัญหาการพลัดหลงหรือหายออกจากบ้าน เนื่องจากภาวะสมองเสื่อม ที่มีอาการหลักคือการหลงลืม มักทำให้ผู้ป่วยลืมสถานที่ที่แม้จะคุ้นเคย ลืมว่ากำลังทำอะไรอยู่ ลืมวันเวลา หรือลืมแม้กระทั่งคนดูแลที่อยู่ด้วย หากวันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ที่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์หายออกจากบ้านหรือพลัดหลง ผู้ดูแลควรตามหาคนหายอย่างไรได้บ้าง? เพื่อที่จะได้รับมือและป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้อย่างตรงจุดค่ะ

สารบัญ

หากผู้ป่วยอัลไซเมอร์หายไป ต้องทำยังไง?

         เป็นอีกเรื่องสำคัญที่ผู้ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์จำเป็นจะต้องรู้ไว้ เพราะเหตุไม่คาดฝันอย่างการที่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์หายออกจากบ้าน หรือหลงทาง เป็นเรื่องที่พบได้บ่อยมาก จากสถิติแจ้งคนหายของมูลนิธิกระจกเงา ปี 2565 พบผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมถึง 25 คน จากผู้สูญหายทั้งหมด 224 คน นับว่าเป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียวค่ะ ซึ่งหากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ของเรา เราควรรับมืออย่างไรดี?

ตามหาคนหาย ผู้ป่วยอัลไซเมอร์หาย หลงทาง

การรับมือผู้ป่วยอัลไซเมอร์หายหรือพลัดหลง

  • อย่างแรกให้ผู้ดูแลนึกหรือสำรวจว่า ในวันที่หายไป ผู้ป่วยอัลไซเมอร์นั้นใส่เสื้อผ้าสีอะไร ลักษณะแบบไหน หรือมีทรัพย์สินอะไรที่ติดตัวบ้าง เช่น สวมสร้อย สะพายกระเป๋า พกบัตรประชาชน ฯลฯ เพื่อเป็นข้อมูลในการสังเกตคนหาย
  • ตรวจสอบบุคคลที่พบเห็นผู้ป่วยอัลไซเมอร์ครั้งสุดท้าย ว่าเจอผู้ป่วยที่ไหนหรือกำลังทำอะไรอยู่ เพื่อเป็นการอัปเดตข้อมูลล่าสุดให้ทราบตรงกัน และเป็นการประเมินเบื้องต้นว่าผู้ป่วยอาจจะหายไปอยู่ในสถานที่ไหน
  • จากนั้นลองค้นหาผู้ป่วยในระแวกที่หายไปก่อน หากไม่เจอลองวิเคราะห์จากอุปนิสัยและพฤติกรรมดูว่า ผู้ป่วยอาจจะไปที่ไหน หรือเป็นที่ที่ผู้ป่วยมีความทรงจำที่คุ้นเคยกับที่นั่น เช่น บ้านเก่า สถานที่ทำงานเก่า หากไปแล้วยังไม่เจอ ให้ฝากรูปถ่ายผู้ป่วย ข้อมูลรูปพรรณในวันที่ผู้ป่วยหายตัวไป และเบอร์ติดต่อเอาไว้ เผื่อผู้ป่วยอาจจะผ่านมา และเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ต่อให้คนอื่นด้วย

ผู้ป่วยอัลไซเมอร์หายออกจากบ้าน ผู้ป่วยอัลไซเมอร์หลงทาง

  • ถ้าผู้ป่วยเคยขึ้นรถประจำทาง อาจเป็นไปได้ว่าผู้ป่วยอาจใช้รถประจำทางในการเดินทางกลับบ้านหรือไปสถานที่ที่คุ้นเคย เพียงแต่ไม่รู้ว่ารถประจำทางนี้ไปที่ใด ดังนั้น ให้ลองหาดูตามอู่รถประจำทาง ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่เคยใช้รถประจำทาง เป็นไปได้ว่าผู้ป่วยอาจเดินเท้าตามทางไปเรื่อย ๆ ให้ลองค้นหาดูตามเส้นทางต่าง ๆ
  • หากยังหาไม่เจอให้ไปยังสถานีตำรวจ เผื่อมีคนพบเห็นแล้วส่งตัวผู้ป่วยไปฝากไว้ที่สถานีตำรวจ หรือผู้ป่วยอาจหลงเดินไปบ้านคนอื่น เจ้าของบ้านอาจมีการแจ้งเจ้าหน้าที่ให้คุมตัวผู้ป่วยไว้รอญาติติดต่อกลับ แต่หากประสานงานแล้วไม่เจอ ให้แจ้งคนหายได้เลย เพราะผู้ป่วยมีภาวะสมองเสื่อม สามารถแจ้งคนหายได้เลย โดยไม่ต้องรอให้ครบ 24 ชั่วโมง
  • หรืออาจสอบถามข้อมูลหรือประสานงานติดต่อผู้ป่วยหาย ผ่านมูลนิธิหรือหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ศูนย์ประชาบดีรับแจ้งคนหาย สายด่วน 1300, มูลนิธิกระจกเงา 095-631-1914 เป็นต้น

คนแก่หายออกจากบ้าน

  • ตรวจสอบดูตามโรงพยาบาลระแวกบ้าน หรือโรงพยาบาลใกล้เคียงกับสถานที่ที่ผู้ป่วยหายไป เป็นไปได้อาจมีพลเมืองดีพาไปส่งตัวพื่อรักษา หรือผู้ป่วยอาจเป็นลม หรือประสบอุบัติเหตุ แล้วถูกส่งตัวไปรักษาก็ได้
  • ตรวจสอบสถานแรกรับคนไร้ที่พึ่ง เป็นสถานที่รวบรวมคนหาย หรือผู้ที่พลัดหลง รวมทั้งผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ระหว่างที่รอการตามหาครอบครัวหรือญาติ
  • สุดท้าย หากลองทำตามข้างต้นหมดแล้ว อาจลองตามหาที่กรมราชทัณฑ์ เพราะอาจมีโอกาสที่ผู้ป่วยเกิดความหวาดระแวงคิดว่าผู้อื่นมาทำร้าย หรืออาจไปทำร้ายผู้อื่นด้วยอาการของโรค จึงอาจมีการดำเนินคดีต่าง ๆ แล้วอาจถูกนำไปฝากตัวไว้ที่กรมราชทัณฑ์ก็เป็นได้

ขอบคุณข้อมูลจาก : มูลนิธิกระจกเงา

คู่มือเตรียมตัว “ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์” ในพาร์ทของผู้ดูแล เราควรทำอะไรบ้าง?

ป้องกันอย่างไร ไม่ให้ผู้ป่วยพลัดหลงหรือหายอีก?

         สำหรับผู้ดูแลที่เคยประสบปัญหาผู้ป่วยอัลไซเมอร์หายออกจากบ้าน หรือพลัดหลงทาง สิ่งต่อมาคือจะต้องป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เหล่านั้นเกิดซ้ำอีก ส่วนผู้ดูแลท่านใดที่ไม่เคยประสบปัญหาดังกล่าว ก็สามารถศึกษาวิธีป้องกันดังต่อไปนี้ เพื่อป้องกันไว้ไม่ให้เหตุการณ์ไม่ดีเกิดขึ้นในอนาคตค่ะ

ตามหาคนหาย แจ้งคนหาย

  • ไม่ว่าคุณจะอยู่หรือไม่อยู่บ้าน ก็ต้องล็อกบ้านหรือคล้องกุญแจ-ประตูรั้วทุกครั้ง แม้ผู้ป่วยอาจจะเปิดหรือปีนออกไปเองได้ แต่ทางที่ดีควรล็อกไว้ทุกครั้งจะดีกว่านะคะ
  • แจ้งเพื่อนบ้าน ผู้รักษาความปลอดภัย (รปภ.) หรือร้านค้าภายในหมู่บ้าน หรือระแวกบ้าน เกี่ยวกับรายละเอียดของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ และเบอร์ติดต่อกลับพร้อมรูปถ่ายฝากไว้ หากพบเห็นผู้ป่วยเดินอยู่คนเดียว ให้หยุดไว้ และติดต่อผู้ดูแลทันที
  • ไม่ควรทิ้งผู้ป่วยไว้คนเดียวไม่ว่าจะเป็นบนรถ หรือห้องน้ำสาธารณะ แนะนำให้เข้าห้องน้ำสำหรับผู้ทุพพลภาพ เพื่อความปลอดภัย ผู้ป่วยจะได้อยู่ในสายตาตลอด และผู้ดูแลไม่ว่าจะเพศใดก็สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้
  • หาเครื่องติดตามตัวติดตัวผู้ป่วยอัลไซเมอร์ไว้ เพื่อที่จะได้สามารถระบุตำแหน่งของผู้ป่วยได้ โดยมูลนิธิกระจกเงามีริสแบนด์คิวอาร์โค้ด “หาย(ไม่)ห่วง” สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ที่จะช่วยติดตามตัวผู้ป่วยเวลาพลัดหลงได้ สามารถลงทะเบียนรับได้ฟรีด้วยค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : สมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม

Click!! ลงทะเบียนรับริสแบนด์ “หาย(ไม่)ห่วง” กับมูลนิธิกระจกเงา ได้ฟรี

ที่สำคัญ อย่าลืมที่จะดูแลและบรรเทาอาการอัลไซเมอร์ของผู้ป่วยให้ดีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ทั้งด้านกิจวัตร และอาหารการกิน และควรเลือกอาหารเสริมบำรุงสมอง เพื่อเป็นอีกทางในการสร้างเสริมสุขภาพสมองที่ดีให้ผู้ป่วยนะคะ

อาหารเสริมบำรุงสมอง
อาหารเสริมบำรุงสมอง

สรุป

         คู่มือติดตามคนหาย สำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ หรือผู้มีภาวะสมองเสื่อมในบทความนี้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ให้กับผู้ดูแลทุกคนนะคะ เพราะอาการของโรคอัลไซเมอร์ มักจะทำให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดบ่อยมาก ดังนั้น ผู้ดูแลสามารถนำข้อมูลในบทความนี้ไปปรับใช้พื่อป้องกันไม่ให้เหตุร้ายเกิดขึ้น รวมทั้งจะเป็นแนวทางในการช่วยให้ผู้ดูแลสามารถรับมือได้ถูกต้อง หากเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นค่ะ

ความรู้น่าสนใจเกี่ยวกับสมองเสื่อม-อัลไซเมอร์

Website ของเรามีการเก็บ cookies เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ... อ่านเพิ่มเติม นโยบายคุกกี้

Close Popup