คู่มือเตรียมตัว “ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์” ในพาร์ทของผู้ดูแล เราควรทำอะไรบ้าง?

ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์

         คงเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจไม่น้อย เมื่ออยู่ ๆ พบว่ามีคนในครอบครัวเป็นอัลไซเมอร์ แล้วเราจะต้องการมาเป็นผู้ดูแลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งสำหรับผู้ดูแลมือใหม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ หรือไม่มีคนรอบตัวพอที่จะปรึกษาได้ Allwell ได้รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นในการวางแผน และเตรียมความพร้อม ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ มาฝากกันค่ะ

สารบัญ

เมื่อรู้ว่าคนที่บ้านเป็นอัลไซเมอร์ ผู้ดูแลต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

        หากทราบว่า มีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ จำเป็นอย่างมากที่ผู้ดูแลจะต้องทำการเตรียมความพร้อมทั้งตนเอง สภาพแวดล้อม และวางแผนในการดูแลผู้ป่วยอย่างเป็นขั้นตอน เพราะการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ต้องอาศัยทั้งความถูกต้องและความเข้าใจในการดูแล ไปดูกันว่า ผู้ดูแลจะต้องเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์อย่างไรบ้างค่ะ

ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์

การเตรียมตัวดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์

1. ทำความรู้จักกับโรคอัลไซเมอร์ให้มากขึ้น เพราะยิ่งผู้ดูแลรู้จักกับโรคอัลไซเมอร์มากเท่าไหร่ ก็จะสามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างเข้าใจและตรงจุดมากเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับมืออาการอัลไซเมอร์ในแต่ละระยะ เรื่องอาหารการกิน สภาพแวดล้อม และปัญหาที่อาจจะเจอ โดยข้อมูลเหล่านี้สามารถศึกษาได้จากทั้งแหล่งความรู้ต่าง ๆ หรือสมาคมเกี่ยวกับอัลไซเมอร์ ที่สามารถให้คำปรึกษา แนะนำ รวมทั้งมีกิจกรรมที่ให้ความรู้ต่าง ๆ โดยสามารถเข้าร่วมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น

  • สมาคมโรคสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย
    • ที่อยู่ : อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี ชั้น 7 เลขที่ 2 ซอยศูนย์วิจัย ถนนเพรชบุรีตัตใหม่ บางกระปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
    • โทร : 02 716 5995 / อีเมล : Dementiadat@email.com
  • ชมรมพยาบาลผู้ป่วยสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย (สาขาการพยาบาลสุขภาพชุมชน)
    • ที่อยู่ : โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี 270 คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ถนนพระราม 6 แขวง ทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
    • โทร : 02 201 1713
    • เว็บไซต์ www.tnsd.or.th
  • สมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม
    • ที่อยู่ : ตู้ปณ. 224 ปณจ.ราชดำเนิน เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
    • โทร : 086 990 4207 / 02 2012588
    • เว็บไซต์ : www.azthai.org

2. เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ทั้งภายและภายนอก เพราะด้วยอาการอัลไซเมอร์ที่เกิดขึ้น อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอันตรายหรือทำให้อาการแย่ลงได้ เริ่มจากการเก็บสิ่งของที่เป็นอันตราย ง่ายต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือไฟไหม้ได้ง่าย เช่น ปลั๊กไฟ กาน้ำร้อน เตาแก๊ส ฯลฯ เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ภายในบ้านที่แข็งแรง ทำหน้าต่างและประตูให้ผู้ป่วยเปิดเองได้ยาก และดูแลให้บ้านมีแสงสว่างเหมาะสม

วิธีดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์

3.วางแผนเรื่องผู้ดูแลให้ชัดเจน ในครอบครัวต้องปรึกษาคุยกันว่าใครทำหน้าที่อะไรบ้าง ถ้าผู้ดูแลหลักเกิดเจ็บป่วยหรือมีภารกิจสำคัญใครจะรับหน้าที่ดูแลแทนได้ แนะนำให้สมาชิกทุกคนช่วยกัน ไม่ทิ้งภาระให้ใครคนใดคนหนึ่ง ควรผลัดเปลี่ยนกันมาดูแลผู้ป่วย เพื่อให้ทุกคนได้มีเวลาพักและทำธุระของตนเองได้

4.ผู้ดูแลจะต้องดูแลตัวเองด้วย การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ สิ่งสำคัญคือผู้ดูแลจะต้องดูแลตัวเองให้ดีด้วย เพราะการมีร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง จะทำให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น

  • กินอาหารที่มีประโยชน์
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ตรวจสุขภาพประจำปี
  • ป้องกันตนเองไม่ให้เกิดการบาดเจ็บจากการดูแลผู้ป่วย เช่น อาการปวดหลัง จากการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไม่ถูกวิธีหรือเกินกำลังของตนเอง เป็นต้น
  • ทำจิตใจให้แจ่มใส เช่น ทำบุญ นั่งสมาธิ ฟังดนตรีผ่อนคลาย
  • หาเวลาทำสิ่งที่ตนเองชอบบ้าง เช่น อ่านหนังสือ เล่นเกม ฯลฯ
การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ กับ 6 ปัญหายอดฮิต พิชิตอย่างไรให้อยู่หมัด!

การเลือกสถานพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์

         การเลือกสถานพยาบาลในการรักษาผู้ป่วย เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ผู้ดูแลควรเตรียมตัวไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะเมื่อดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ถึงจุดหนึ่ง ผู้ป่วยอาจมีอาการแย่ลงจนไม่สามารถดูแลผู้ป่วยที่บ้านได้อีก ถึงเวลานั้น เราก็จะได้มีสถานพยาบาลที่พร้อมรับผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที แถมยังมีเวลาในการตัดสินใจเลือกสถานพยาบาลที่ดีและตรงใจเรามากที่สุดได้อีกด้วยค่ะ

ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์

1.ค้นหาว่าในละแวกบ้านมีสถานพยาบาลใดบ้าง หรือสอบถามแพทย์ เพื่อน ญาติ นักสังคมสงเคราะห์ หรือองค์กรการกุศลต่าง ๆ ที่อาจช่วยให้ข้อมูลเรื่องรายชื่อสถานพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้

2.เมื่อได้สถานพยาบาลที่สนใจแล้ว ให้ลิสต์รายการคำถามที่ต้องการทราบ สำหรับสอบถามเจ้าหน้าที่ในสถานพยาบาลนั้น ๆ เช่น แผนการทำกิจกรรมประจำวันของผู้ป่วย แผนการรักษา ค่าใช้จ่าย บริการพิเศษ ฯลฯ

3.ติดต่อสถานพยาบาลที่คุณสนใจ แล้วเข้าไปดูด้วยตนเอง แล้วสังเกตดูสภาพแวดล้อมต่าง ๆ รวมทั้งกิจวัตรประจำวันในสถานพยาบาลนั้น ๆ ว่าเป็นอย่างไร ปฏิบัติ-ดูแลผู้ป่วยดีไหม

4.เมื่อได้เข้าไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ ให้ถามคำถามที่ต้องการทราบ อย่าลืมที่จะถามว่าสถานพยาบาลนั้นให้บริการอะไรเป็นพิเศษกับผู้ป่วยและครอบครัวบ้าง ผู้ดูแลผ่านการอบรมจากสถาบันใด และมีนโยบายในการวางแผนดูแลผู้ป่วยโดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของครอบครัวมากแค่ไหน ที่สำคัญต้องอย่าลืม ถามเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ด้วย

5.หากตัดสินใจเลือกสถานพยาบาลได้แล้ว ให้ปรึกษากับทางนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ เพื่อวางแผนในการย้ายผู้ป่วยไปสถานพยาบาล เพราะการย้ายที่อยู่เป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์มาก จำเป็นจะต้องได้รับการดูแลทางด้านจิตใจเป็นสำคัญ

อาหารเสริมบำรุงสมอง
อาหารเสริมบำรุงสมอง

สรุป

         สำหรับผู้ดูแลอัลไซเมอร์มือใหม่ ในช่วงแรกของการเตรียมความพร้อมอาจจะต้องใช้เวลาและใช้พลังใจสูง เพราะการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะต้องอาศัยความละเอียดอ่อนมาก อย่างไรก็ตาม ผู้ดูแลต้องอย่าลืมที่จะดูแลตัวเองด้วยนะคะ บทความนี้หวังว่า จะช่วยเป็นข้อมูลหนึ่ง ในการตัดสินใจและวางแผน ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ในเรื่องต่าง ๆ ให้ผู้ดูแลมือใหม่ได้นะคะ

ความรู้น่าสนใจเกี่ยวกับสมองเสื่อม-อัลไซเมอร์

Website ของเรามีการเก็บ cookies เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ... อ่านเพิ่มเติม นโยบายคุกกี้

Close Popup