บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น “ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้” หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
อีกหนึ่งอาการของผู้ป่วยสมองเสื่อมที่ผู้ดูแลหลายคนกังวลใจ คือเรื่องของอารมณ์ที่ไม่คงที่ หรือควบคุมอารมณ์ไม่ได้ เช่น ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ก้าวร้าว หวาดกลัว ซึมเศร้า รวมไปถึงภาวะนอนไม่หลับ นอกจากการรักษาด้วยการกินยาแล้ว ยังมีอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจไม่น้อย นั่นก็คือ สุคนธบำบัด หรือสุวคนธบำบัด เป็นทางเลือกรักษาอารมณ์ผู้ป่วยด้วยกลิ่นจากธรรมชาติ มารู้จักแนวทางรักษาที่น่าสนใจนี้ไปพร้อม ๆ กันค่ะ
สารบัญ
- รู้จัก “สุคนธบำบัด” คืออะไร?
- สุคนธบำบัด ช่วยผู้ป่วยสมองเสื่อมได้อย่างไรบ้าง?
- ผู้ป่วยสมองเสื่อมคนไหน ที่ต้องระวังการทำสุคนธบำบัด
รู้จัก “สุคนธบำบัด” คืออะไร?
สุคนธบำบัด คือ การใช้น้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากธรรมชาติ (ไม่ใช้น้ำหอมสังเคราะห์) มาบำบัดสุขภาพร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ ด้วยวิธีการต่าง ๆ หรือที่นิยมเรียกกันว่า อโรมาเธอราพี (Aromatherapy) นับเป็นศาสตร์หนึ่งของแพทย์ทางเลือก โดยมีการใช้ศาสตร์นี้การแพทย์ตะวันออกมากว่าพันปี ปัจจุบันสุคนธบำบัดถูกนำมาใช้รักษาอย่างแพร่หลายทั่วโลก
การทำสุคนธบำบัด สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ
- สูดดมโดยตรง : เป็นวิธีที่ทำได้ง่าย แต่น้ำมันหอมระเหยจะต้องถูกผสมให้เจือจางอย่างเหมาะสม
- นวดตัว : ใช้น้ำมันหอมระเหยผสมกับน้ำมันทาตัว แล้วนำมานวดตัว (ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ)
- จุดเทียนหอม หรือใช้เตาหอมระเหย : ผสมน้ำมันหอมระเหยลงในเทียน หรือหยดลงในน้ำที่อยู่ในฝาหรือถ้วยเหนือเตา จะทำให้เกิดไอระเหยส่งกลิ่นหอมออกมา
- การประคบ : ผสมน้ำมันหอมระเหยลงในน้ำสะอาด น้ำดอกไม้ หรือน้ำชาสมุนไพร แล้วใช้ผ้าจุ่มลงไปแช่แล้วบิดพอหมาด จากนั้นนำไปประคบบริเวณที่ต้องการ
- ผสมน้ำอาบ : นำน้ำมันหอมระเหยผสมในน้ำอาบที่เป็นน้ำอุ่น แล้วลงไปแช่ หรืออาจใช้วิธีอาบจากฝักบัว โดยหยดน้ำมันหอมระเหยลงบนผ้าหรือฟองน้ำถูตัวที่เปียกหมาด ๆ แล้วถูตัวหลังจากที่อาบน้ำเสร็จแล้ว
- การแช่มือ-เท้า : ใช้น้ำมันหอมระเหยหยดลงในน้ำอุ่น แล้วแช่มือหรือเท้า
- ฉีดพ่นละอองฝอย : นำน้ำมันหอมระเหยมาผสมกับน้ำอุ่น แล้วใส่ในภาชนะที่มีหัวฉีดพ่นละออง แล้วนำไปฉีดพ่นตามห้องต่าง ๆ
โดยปริมาณความเข้มข้นของน้ำมันหอมระเหยที่ใช้บำบัด จะแตกต่างกันไปตามแต่ละวิธี อีกทั้งน้ำมันแต่ละกลิ่นก็จะช่วยบำบัดรักษาต่างกันไป
สุคนธบำบัด ช่วยผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมได้อย่างไร?
อย่างที่เราทราบกันดีว่า ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ หรือผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม ส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาเรื่องอารมณ์รุนแรง วิตกหวาดกลัว หรือมีภาวะซึมเศร้า อีกทั้งส่วนใหญ่ยังมีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับ จึงทำให้สุคนธบำบัด หรือการใช้กลิ่นบำบัดอารมณ์และจิตใจ ซึ่งเป็นการแพทย์ทางเลือก กลายมาเป็นหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยในปัจจุบัน
เนื่องจากการที่ผู้ป่วยได้รับกลิ่นของน้ำมันหอมระเหย โมเลกุลในน้ำหอมจะเข้าสู่สมองผ่านประสาทรับกลิ่นที่อยู่ในโพรงจมูกด้านบน ส่งผลไปถึงสมองส่วนลิมบิค ซึ่งควบคุมอารมณ์และความรู้สึก ซึ่งสัมพันธ์กับความจำ และการควบคุมระดับความเครียด นอกจากนี้ ยังมีผลต่อสมองส่วนต่าง ๆ เช่น สมองส่วนคอร์เท็กซ์ มีผลต่อการเรียนรู้ ต่อมพิทิวทอรี ควบคุมระบบฮอร์โมนทั้งหมด และสมองส่วนไฮโปธาลามัส ควบคุมความโกรธและความรุนแรง
ด้วยข้อดีของการทำสุคนธบำบัดนี้ จึงถูกนำมาใช้ในผู้ป่วยสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์ เพราะจะช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น ลดอารมณ์ที่รุนแรงฉุนเฉียว หรือที่ซึมเศร้าหวาดกลัว ทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่คงที่มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ก็ควรทำการรักษากับแพทย์แผนปัจจุบันที่ดูแลโรคอัลไซเมอร์หรือสมองเสื่อมโดยตรงควบคู่ไปด้วย
ประโยชน์ของการทำสุคนธบำบัดในผู้ป่วยสมองเสื่อม
- รักษาอาการนอนไม่หลับ ทำให้นอนหลับง่ายมากขึ้น
- ช่วยทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย ลดความกังวล
- ลดอาการซันดาวน์ อารมณ์รุนแรง รักษาสมดุลของอารมณ์
- บำบัดอาการเหนื่อยล้า ปวดเกร็งกล้ามเนื้อ
- ลดอาการตึงเครียด วิงเวียนศีรษะ
- ช่วยบำบัดสุขภาพบางอย่าง เช่น ความดันโลหิต การไหลเวียนเลือด นอนกรน
- น้ำมันบางกลิ่นจะช่วยกระตุ้นถึงความทรงจำในอดีต (ขึ้นอยู่กับผู้ป่วย)
อาหารเสริมลดอาการอัลไซเมอร์ จากประเทศญี่ปุ่น (มีงานวิจัยรองรับ)
ผู้ป่วยสมองเสื่อมคนไหน ที่ต้องระวังการทำสุคนธบำบัด
แม้สุคนธบำบัด จะเป็นทางเลือกที่ช่วยทั้งเรื่องสุขภาพ อารมณ์ และจิตใจ แต่ไม่ได้เหมาะที่จะทำกับผู้ป่วยทุกคนนะคะ ยังมีข้อควรระวังบางเรื่อง หรือกลุ่มคนที่ไม่เหมาะจะใช้ ดังนั้น การจะทำสุคนธบำบัดควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ แพทย์ หรือให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการทำสุคนธบำบัดโดยตรงทำการบำบัดให้ จะดีที่สุดนะคะ
ผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้ควรระวัง
- มีความดันโลหิตสูง
- เป็นโรคเบาหวาน
- โรคลมชัก
- โรคหอบหืด
- เป็นโรคภูมิแพ้ หรือมีอาการแพ้ที่ผิวหนังง่าย
สรุป
ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ หรือผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ อารมณ์ไม่คงที่หรือควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ รวมทั้งผู้ป่วยที่ซึมเศร้า-เครียด การทำสุคนธบำบัด เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยเลยค่ะ แต่อย่างไรก็ควรทำควบคู่ไปกับการรักษากับแพทย์แผนปัจจุบันที่โรงพยาบาลด้วยนะคะ รวมทั้งการทำสุคนธบำบัดเองก็ต้องระวัง ทางที่ดีควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญนะคะ