หากพูดถึงโรคที่ส่งผลกับเรื่องความจำ หรืออาการหลง ๆ ลืม ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต หลาย ๆ คนคงนึกถึงโรคอัลไซเมอร์ หรือที่นิยมเรียกกันว่าภาวะสมองเสื่อม แต่รู้หรือไม่ว่า?! สมองเสื่อมกับอัลไซเมอร์ไม่ใช่โรคเดียวกัน! บทความนี้ จึงจะพาทุกท่านไปไขข้อสงสัยว่า ภาวะสมองเสื่อม กับอัลไซเมอร์ ต่างกันอย่างไร? ใช่อาการหลง ๆ ลืม ๆ ที่ผู้สูงวัยชอบเป็นหรือเปล่า?!?
สารบัญ
ภาวะสมองเสื่อม กับอัลไซเมอร์ต่างกันอย่างไร? ไม่ใช่โรคเดียวกันเหรอ?
ภาวะสมองเสื่อม กับโรคอัลไซเมอร์ ทั้งสองไม่ใช่โรคเดียวกัน แต่มีความเกี่ยวเนื่องกันอยู่ค่ะ โดยโรคอัลไซเมอร์เป็น “หนึ่งในสาเหตุหลัก” ที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม ซึ่งก็ยังมีอีกหลากหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้ เพียงแต่โรคอัลไซเมอร์เป็นหนึ่งในสาเหตุเหล่านั้นนั่นเองค่ะ ดังนั้น เรามาทำความรู้จักกับทั้งสองโรคนี้กันว่าแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
ทำความรู้จักกับภาวะสมองเสื่อม
ภาวะสมองเสื่อม คือ ภาวะที่เซลล์สมองเกิดการเสื่อม ตาย หรือสมองเกิดความเสียหาย ทำให้ระบบโครงสร้างและการทำงานของสมองบกพร่อง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องความทรงจำ ความสามารถทางสติปัญญาลดลง และอารมณ์เปลี่ยนแปลง ซึ่งภาวะสมองเสื่อมไม่ใช่โรคเฉพาะ แต่เป็นกลุ่มอาการหนึ่ง โดยเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ แบ่งเป็นสาเหตุที่รักษาได้ และรักษาไม่ได้
สาเหตุของภาวะสมองเสื่อม
1.สาเหตุที่รักษาได้ (ถ้ารักษาสาเหตุเหล่านั้นได้ อาการสมองเสื่อมก็อาจดีขึ้น)
- เป็นโรคต่อมไทรอยด์ หรือภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์
- เป็นโรคที่เกี่ยวกับสมอง เช่น ติดเชื้อในสมอง เนื้องอกในสมอง น้ำคั่งในโพรงสมอง เลือดออกในสมอง
- HIV เอดส์ หรือซิฟิลิสที่ขึ้นสมอง
- ขาดวิตามินบี 12 เป็นเวลานาน จนเซลล์สมองเสื่อม
- สมองเสื่อมจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท
- โรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น โรคซึมเศร้า โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคลมชัก ฯลฯ
2.สาเหตุที่รักษาไม่ได้
- โรคอัลไซเมอร์ (พบบ่อยที่สุด)
- โรคหลอดเลือดสมองตีบ
- โรคพาร์กินสัน
- สมองได้รับบาดเจ็บรุนแรง
ทำความรู้จักกับโรคอัลไซเมอร์
โรคอัลไซเมอร์ คือ โรคที่เกิดจากโปรตีนที่ชื่อว่า เบต้าอะไมลอยด์ (Beta Amyloid) เกิดการรวมตัวแล้วตกตะกอน ไปจับตัวอยู่ที่เซลล์สมอง ส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อมและตาย นำไปสู่การเกิดภาวะสมองเสื่อม โดยโรคอัลไซเมอร์จะส่งผลโดยตรงกับการทำงานของสมอง ในส่วนของความทรงจำ (โดยเฉพาะความทรงจำระยะสั้น) ความคิด การใช้ภาษา และการตัดสินใจ
สาเหตุของโรคอัลไซเมอร์
- มีปัจจัยด้านที่ทำให้เซลล์สมองเสื่อม เช่น อยู่ในวัยสูงอายุ ขาดการออกกำลังกาย สูบบุหรี่บ่อย เป็นต้น
- เป็นโรคดาวน์ซินโดรม (มักเป็นร่วมกับโรคอัลไซเมอร์)
- นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอเป็นเวลานาน หรือมีการนอนหลับที่ผิดปกติจากโรค เช่น หยุดหายใจขณะหลับ เป็นต้น
- มีโรคประจำตัวบางอย่างที่นำไปสู่อัลไซเมอร์ เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น
- ได้รับการบาดเจ็บที่สมองอย่างรุนแรง
- ได้รับกรรมพันธุ์จากคนในครอบครัวที่เป็นโรคอัลไซเมอร์
ภาวะสมองเสื่อมกับอัลไซเมอร์ มีอาการต่างกันหรือไม่?
อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า โรคอัลไซเมอร์คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม อีกทั้งยังมีปัญหาที่บริเวณสมองเช่นเดียวกัน จึงทำให้ลักษณะอาการที่เกิดจึงมีความคล้ายคลึงกัน นั่นก็คือการมีปัญหาเรื่องความทรงจำ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยสมองเสื่อมจะลืมวิธีการใช้ชีวิตประจำวัน หรือลืมเรื่องง่าย ๆ เช่น วันเดือนปี ชื่อสถานที่ ผู้คน ฯลฯ ในขณะที่โรคอัลไซเมอร์ผู้ป่วยมักมีปัญหากับความทรงจำระยะสั้น มักจำเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ได้
นอกจากนี้ ทั้งสองโรคมักมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร การใช้คำหรือภาษา รวมทั้งมีปัญหากับวิธีการคิดและตัดสินใจ ไม่สามารถทำอะไรที่ซับซ้อนหรือเป็นขั้นตอนได้ และยังมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ขาดความยับยั้งชั่งใจ นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านจิตใจและอารมณ์ เช่น มีความก้าวร้าว ซึมเศร้า วิตกกังวล หวาดระแวง และเห็นภาพหลอน
“ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ทุกคนจะมีภาวะสมองเสื่อม แต่ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมไม่ได้เป็นโรคอัลไซเมอร์ทุกคน”
คนแก่หลง ๆ ลืม ๆ ใช่อาการของภาวะสมองเสื่อมหรือเปล่า?
หลายคนอาจมีความสงสัยว่า ผู้สูงอายุที่บ้านมีอาการอัลไซเมอร์ หรือมีภาวะสมองเสื่อมหรือเปล่า เพราะมีอาการหลง ๆ ลืม ๆ อย่างเช่นวางของไว้แล้วก็จำไม่ได้ว่าไปวางไว้ที่ไหน หรือเรียกชื่อลูกหลานผิด ๆ ถูก ๆ แต่บอกเลยว่า อาการหลงลืมไม่ได้แปลว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ หรือมีอาการของภาวะสมองเสื่อมเสมอไปค่ะ
อาการหลงลืมตามวัยต่างกับสมองเสื่อมอย่างไร?
โดยปกติแล้วผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไป มักจะมีอาการหลงลืมเกิดขึ้นตามธรรมชาติอยู่แล้ว เนื่องจากอายุที่มากขึ้น จึงทำให้การทำงานของสมองถดถอยลง เซลล์สมองก็จะค่อย ๆ เสื่อมหรือตายทีละนิด ๆ แต่ไม่ได้ถึงขั้นสูญเสียความทรงจำ หรือลืมวิธีการใช้ชีวิตเหมือนกับผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม โดยเราสามารถประมาณอาการที่แตกต่างกันได้ ดังนี้
อาการหลงลืมของผู้สูงอายุแบบทั่วไป | อาการหลงลืมของผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม |
จำวันที่ผิดบ้าง หรือนึกชื่อคนรู้จักที่เจอนาน ๆ ครั้งไม่ออก แต่ถ้าใช้เวลานึก หรือมีคนบอกใบ้ก็จะสามารถจำได้เอง | ลืมวันเดือนปี ลืมชื่อชื่อคนที่เจอหน้ากันทุกวัน ลืมคนในครอบครัว แม้จะใช้เวลาหรือมีคนบอกก็ยังนึกไม่ออก |
ลืมว่าวางของไว้ที่ไหน (ไม่ได้บ่อยมาก) แต่ใช้เวลาก็จะนึกออก | วางของในที่ที่ไม่ควรจะวาง เช่น วางรีโมทในตู้เย็น ไม่สามารถจำที่วางของได้เลย |
คิดช้าลง หากจะต้องตัดสินใจเรื่องยาก ๆ หรือต้องทำอะไรที่ซับซ้อนเป็นขั้นตอน จะต้องใช้เวลามาก | ไม่สามารถวางแผน หรือทำสิ่งที่ซับซ้อนเป็นขั้นตอนได้เลย ตัดสินใจไม่ได้ หรือตัดสินใจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ |
นึกคำพูดบางคำนาน ใช้คำไม่ค่อยถูก ต้องใช้เวลานึก | พูดคุยลำบาก สนทนาไม่รู้เรื่อง ใช้คำไม่ถูก ถามซ้ำ ๆ พูดซ้ำ ๆ ในเรื่องเดิม แม้จะตอบไปแล้วก็ยังถามอีก |
สามารถดูแลตนเองได้ ใช้ผู้ดูแลช่วยแค่บางเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรืออุปกรณ์ใหม่ ๆ | ลืมวิธีการใช้ชีวิต ต้องการคนช่วยในการป้อนข้าว แต่งตัว-อาบน้ำ ลืมวิธีการใช้อุปกรณ์ที่ต้องใช้ทุกวัน เช่น แปรงสีฟัน |
หงุดหงิดเมื่อถูกรบกวน หรือเศร้าเมื่อมีเรื่องให้น้อยใจ-เสียใจ | ก้าวร้าวไม่มีเหตุผล วิตกกังวล หวาดระแวง ซึมเศร้า เห็นภาพหลอน |
“อย่างไรก็ตาม หากสงสัยว่าผู้สูงอายุมีอาการสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์หรือไม่ ผู้ดูแลควรพาผู้สูงอายุไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยให้แน่ใจนะคะ”
สรุป
แม้ภาวะสมองเสื่อมกับอัลไซเมอร์จะดูเหมือนเป็นโรคเดียวกัน แต่บอกเลยว่าไม่เหมือนกันนะคะ เพราะทั้งสองมีสาเหตุที่แตกต่างกัน แถมภาวะสมองเสื่อมก็ไม่ใช่โรค แต่เป็นกลุ่มอาการหนึ่งที่เกิดขึ้นได้จากโรคอัลไซเมอร์ อีกทั้งผู้สูงอายุที่มีอาการหลง ๆ ลืม ๆ ก็ไม่ได้แปลว่ามีภาวะสมองเสื่อม หรือเป็นโรคอัลไซเมอร์เสมอไป ดังนั้น เพื่อให้แน่ใจ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพแล้วหาทางวินิจฉัยจะดีที่สุดนะคะ