มาลองทำ “แบบทดสอบอัลไซเมอร์” เช็กอาการน่าสงสัย จะใช่อัลไซเมอร์หรือเปล่านะ?!

แบบทดสอบอัลไซเมอร์

         เมื่ออายุมากขึ้น อาการขี้หลงขี้ลืมตามช่วงวัยก็ตามมาเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าอาการหลงลืมนั้น ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของตัวผู้สูงอายุ ไปจนถึงคนรอบข้างล่ะก็ อาการหลงลืมเหล่านั้นเข้าข่ายผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคอัลไซเมอร์ หรือภาวะสมองเสื่อมก็ได้ค่ะ หากคนในครอบครัวของใครมีอาการที่น่าสงสัยว่าจะเป็นโรคอัลไซเมอร์ ALLWELL มี แบบทดสอบอัลไซเมอร์ สำหรับญาติหรือผู้ดูแล มาให้ทดสอบกันค่ะ

สารบัญ

แบบทดสอบอัลไซเมอร์ สำหรับประเมินคนในครอบครัว

         หลายคนอาจสับสนหรือไม่แน่ใจว่า อาการที่ผู้สูงอายุหรือคนในครอบครัวเป็นอยู่ แท้จริงแล้วคืออาการหลง ๆ ลืม ๆ ตามช่วงวัย หรือเป็นโรคอัลไซเมอร์กันแน่ แบบประเมินอัลไซเมอร์ จะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยประเมินเบื้องต้นได้ โดยในบทความนี้จะเป็นแบบประเมินอัลไซเมอร์สำหรับให้ญาติหรือผู้ดูแลทำ (TAQ) ซึ่งจะเหมาะต่อการประเมินคนในครอบครัวที่อายุมากแล้ว หรือมีภาวะหลงลืมจนไม่สามารถทดสอบด้วยตนเองได้ค่ะ

คำถามไม่ใช่ใช่
1. คนที่คุณดูแลเป็นคนขี้ลืมหรือไม่ (ถ้าไม่ใช่ ข้ามไปทำข้อ 3 ได้เลย)01
2. ถ้าข้อ 1 ตอบใช่ เขามีอาการขี้ลืมมากขึ้นภายใน 2-3 ปีที่ผ่านมา01
3. ชอบถามซ้ํา พูดซ้ําประโยคเดิม หรือเรื่องเดิมหลายครั้งในวันเดียว02
4. เขาชอบลืมนัด ต้องคอยเตือนย้ําเรื่องนัดบ่อย ๆ01
5. วางของผิดที่มากกว่า 1 ครั้งต่อเดือน01
6. เวลาหาของไม่เจอ เขาจะสงสัยว่ามีใครซ่อน หรือขโมยของนั้นไป01
7. เขามักจําวันเดือนปีและเวลาไม่ได้ ต้องเช็กดูปฏิทินมากกว่า 1 ครั้งต่อวัน02
8. หลงทางเมื่อไปสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย01
9. เวลาเดินทางหรือต้องอยู่นอกบ้าน เขาจะรู้สึกสับสนมากกว่าปกติ01
10. มีปัญหาเรื่องการการรับ-จ่ายเงินสด การคํานวณเงินทอนเวลาซื้อของ (ไม่นับขีดจำกัดร่างกาย)01
11. มีปัญหาเรื่องการวางแผนจัดการเรื่องการเงิน การจ่ายบิลค่าใช้จ่าย เช่น บิลค่าไฟฟ้า, ค่าโทรศัพท์, ค่าบัตรเครดิต02
12. มักลืมกินยา หรือกินยาไม่สม่ําเสมอ01
13. ขับรถหลงทาง หรือทําให้คุณกังวลเกี่ยวกับการขับรถของเขา01
14. ใช้เครื่องมือ-อุปกรณ์ที่เคยทําทุกวันได้ยากขึ้น เช่น หม้อหุงข้าว, โทรศัพท์, รีโมท01
15. ทําความสะอาดบ้าน หรือซ่อมแซมของใช้ในบ้านได้ลําบากกว่าเดิมที่เคยทำได้ (ไม่นับขีดจำกัดร่างกาย)01
16. เลิกเล่นกีฬา หรืองานอดิเรกที่ทําเป็นประจํา (ไม่นับขีดจำกัดร่างกาย)01
17. เริ่มหลงทางในพื้นที่ที่คุ้นเคย อย่างในละแวกบ้าน02
18. ไม่เข้าใจหรือลืมทิศทาง จําทางไม่ได้01
19. มีปัญหาในการนึกคําเรียกสิ่งต่าง ๆ นอกจากชื่อคน01
20. สับสนในการเรียกชื่อคนในครอบครัว หรือกลุ่มเพื่อนสนิท02
21. มีปัญหาในการจําชื่อคนที่คุ้นเคย02
รวมคะแนน

          ให้ญาติหรือผู้ดูแลทำแบบทดสอบอัลไซเมอร์ โดยประเมินผู้ป่วย-ผู้สูงอายุตามความเป็นจริงนะคะ เมื่อทำการประเมินเสร็จแล้ว ให้รวบรวมคะแนนทั้งหมด แล้วดูกันว่าคะแนนที่ได้ เข้าตามเกณฑ์ไหน และต้องดูแลผู้ป่วย-ผู้สูงอายุอย่างไร ตามข้อมูลต่อไปนี้ค่ะ

  • 0 – 3 คะแนน ความจำปกติ : อยู่เกณฑ์ทั่วไป ยังไม่มีความเสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์ แต่ยังคงแนะนำให้ดูแลตัวเอง หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอัลไซเมอร์
  • 4 – 12 คะแนน มีความผิดปกติทางด้านสมองเล็กน้อย : ไม่ว่าจะเป็นด้านการรับรู้ ความจำ ความคิด จิตใจ หรือการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งเร้าต่าง ๆ แนะนำให้ลดและควบคุมปัจจัยเสี่ยงอัลไซเมอร์ต่าง ๆ ลงสักระยะ แล้วลองทำแบบประเมินใหม่เรื่อย ๆ หากมีคะแนนเพิ่มมากขึ้น แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ
  • 13 คะแนนขึ้นไป สงสัยว่าอาจจะมีอาการอัลไซเมอร์ : แนะนำให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และทำการรักษาต่อไป

         ส่วนสำหรับใครที่อยากจะประเมินความเสี่ยงอัลไซเมอร์หรือภาวะสมองเสื่อมของตนเอง ก็สามารถทำแบบทดสอบอัลไซเมอร์สำหรับประเมินตนเองด้านล่างได้เลยค่ะ

อาการอัลไซเมอร์

7 ระยะอาการอัลไซเมอร์ ที่ผู้ดูแลควรรู้

         คนส่วนใหญ่กว่าจะรู้ว่าคนในครอบครัวเป็นโรคอัลไซเมอร์นั้น ก็เป็นตอนที่โรคเริ่มรุนแรงแล้ว เพราะอาการในช่วงแรก ๆ นั้น ดูเหมือนอาการหลงลืมแบบทั่วไป แต่นานวันเข้า จะเริ่มลืมคนรอบข้าง ลืมลูกหลาน จนกระทั่งสูญเสียความสามารถในการดูแลตัวเองไปค่ะ ส่วนในผู้ดูแลที่ทราบแล้วว่ามีคนในครอบครัวเป็นโรคอัลไซเมอร์แล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องรู้อาการแต่ละระยะที่จะเกิดขึ้นไว้ เพื่อที่จะได้รับมือได้อย่างถูกต้องนะคะ

แบบทดสอบอัลไซเมอร์

         โดยสมาคมอัลไซเมอร์ ได้แบ่งระยะอาการของโรคอัลไซเมอร์ ออกเป็น 7 ระยะ ตามการสูญเสียความจำ และความสามารถในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้ค่ะ

ระยะอาการอัลไซเมอร์

  • ระยะที่ 1 ยังไม่สูญเสียความทรงจำ : ไม่พบความผิดปกติใด ๆ ผู้ป่วยยังสามารถทำงาน กิจกรรมต่าง ๆ หรือยังใช้ชีวิตได้ตามปกติ ยังไม่สามารถสังเกตอาการที่ชี้นำว่าจะเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ในระยะนี้
  • ระยะที่ 2 ความจำลดลงเล็กน้อย : ผู้ป่วยเริ่มมีการหลงลืมเหตุการณ์ปัจจุบัน ในระยะนี้ผู้ป่วยเองจะเริ่มรู้สึกว่าจำสิ่งต่าง ๆ ได้น้อยลง แต่ครอบครัวหรือคนใกล้ชิดจะไม่สังเกตเห็นความผิดปกตินี้
  • ระยะที่ 3 ความสามารถในการรู้คิดลดลงเล็กน้อย : ผู้ป่วยจะจำชื่อคนที่เพิ่งรู้จัก หรือสถานที่ใหม่ ๆ ไม่ได้ ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจหลงทางเวลาออกจากบ้านได้ จะเริ่มเห็นการเก็บสิ่งของผิดที่ หรือหาสิ่งของตัวเองไม่เจอ ที่สำคัญ ผู้ป่วยจะเริ่มพูดซ้ำ-ถามซ้ำในเรื่องเดิม ๆ ทั้งวัน เริ่มทำงานหรือกิจกรรมที่ซับซ้อนได้ลดลง
  • ระยะที่ 4 ความสามารถในการรู้คิดลดลงปานกลาง : ลืมเรื่องส่วนตัวของตัวเอง จำเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ได้ การใช้อุปกรณ์เครื่องมือที่เคยใช้ได้ยากขึ้น จัดการเรื่องเงิน-การใช้จ่ายลำบาก เริ่มมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย และอาจทำอะไรที่ไม่สมเหตุสมผล

แบบทดสอบสมองเสื่อม

  • ระยะที่ 5 ความสามารถในการรู้คิดลดลงมาก : สับสนเรื่องเวลาและสถานที่ จำเรื่องสำคัญในชีวิตไม่ได้ แต่ยังสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเอง ทั้งการกินอาหาร อาบน้ำ ขับถ่าย แต่อาจต้องการความช่วยเหลือในการเลือกเสื้อผ้าที่เหมาะสม กับสภาพอากาศและกาลเทศะ
  • ระยะที่ 6 ความสามารถในการรู้คิดลดลงอย่างรุนแรง : ไม่สามารถจำเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นได้ สูญเสียความรู้คิด การพูดการใช้ภาษา มีพฤติกรรมและบุคลิกภาพเปลี่ยนไป จำเป็นต้องมีผู้ดูแลในการทำกิจวัตรประจำวัน มีปัญหาในการนอนหลับ เดินไปมาไร้จุดหมาย และหลงทางแม้กระทั่งในบ้านตัวเอง
  • ระยะที่ 7 ความสามารถในการรู้คิดลดลงอย่างรุนแรงมาก : ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันพื้นฐานได้ ผู้ป่วยบางคนอาจจะไม่เดิน ไม่สื่อสารพูดคุย เริ่มมีปัญหาข้อติด มีปัญหาในการกลืน ระยะสุดท้ายจะกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงในที่สุด
การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ กับ 6 ปัญหายอดฮิต พิชิตอย่างไรให้อยู่หมัด!
อาหารเสริมบำรุงสมอง
อาหารเสริมบำรุงสมอง

สรุป

         แบบทดสอบอัลไซเมอร์ หรือแบบทดสอบภาวะสมองเสื่อมที่นำมาฝากในบทความนี้ หวังว่าจะช่วยให้คุณผู้อ่านสามารถประเมินอาการเบื้องต้นของผู้ป่วย-ผู้สูงอายุได้ไม่มากก็น้อยนะคะ อย่างไรก็ตาม ยิ่งเรารู้เร็วก็จะช่วยชะลออาการต่าง ๆ ของผู้ป่วยให้ช้าลง และรักษาให้ดีขึ้นได้ค่ะ ดังนั้น หมั่นสังเกตคนรอบข้าง โดยเฉพาะผู้สูงอายุในครอบครัวกันนะคะ

ความรู้น่าสนใจเกี่ยวกับสมองเสื่อม-อัลไซเมอร์

Website ของเรามีการเก็บ cookies เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ... อ่านเพิ่มเติม นโยบายคุกกี้

Close Popup