อย่าเบาใจ!! เบาหวานขึ้นเท่าไหร่อันตราย? ขึ้น 300 ควรไปหาหมอหรือยัง?!

เบาหวานขึ้นเท่าไหร่อันตราย

         อย่างที่ทราบกันดีว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวาน จะต้องคอยดูแลระดับน้ำตาลในเลือดของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้ต่ำหรือสูงเกินไปจนเป็นอันตราย สำหรับผู้ป่วยเบาหวานมือใหม่ อาจจะยังไม่ทราบว่า เบาหวานขึ้นเท่าไหร่อันตราย ต้องตรวจน้ำตาลบ่อยแค่ไหน วันละกี่ครั้ง เหมือนหรือต่างกับการตรวจน้ำตาลในคนปกติไหม บทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยเบาหวานควรรู้มาฝากกันค่ะ

สารบัญ

เบาหวานขึ้นเท่าไหร่อันตราย? ขึ้น 200-300 อันตรายไหม?

         สิ่งหนึ่งที่น่ากังวลในผู้ป่วยโรคเบาหวาน คือภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือที่นิยมเรียกว่า เบาหวานขึ้น เพราะการที่เบาหวานขึ้นสูงมาก ๆ อาจก่อให้เกิดอันตรายหรือมีภาวะแทรกซ้อนกับผู้ป่วยได้ ผู้ป่วยเบาหวานหลาย ๆ คนอาจจะยังไม่รู้ว่าเบาหวานขึ้นเท่าไหร่อันตราย เบาหวานขึ้น 300 อันตรายไหม? เบาหวานขึ้น 200 ต้องไปหาหมอหรือยัง?

เบาหวานขึ้นเท่าไหร่อันตราย

       สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ก่อนกินอาหารเบาหวานขึ้นไม่ควรเกิน 130 mg/dL ส่วนหลังกินอาหารเบาหวานขึ้นไม่ควรเกิน 180 mg/dL ถ้าเกินกว่านี้ถือว่าอยู่ในระดับสูง ต้องรีบควบคุม แต่ถ้าเบาหวานขึ้น 250 mg/dL ขึ้นไปถือว่าอยู่ในระดับอันตราย เสี่ยงต่อภาวะเลือดเป็นกรด และส่งผลเสียต่ออวัยวะ ดังนั้นใครที่สงสัยว่าเบาหวานขึ้น 200-300 อันตรายไหม บอกเลยว่าสูงมาก แนะนำว่าไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ให้รีบปรึกษาแพทย์นะคะ

เป้าหมายการดูแลระดับน้ำตาลในเลือด

ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2

  • ก่อนทานอาหารแต่ละมื้อ ควรอยู่ระหว่าง 80-130 mg/dL
  • หลังทานอาหาร 2 ชั่วโมง ควรน้อยกว่า 180 mg/dL

ผู้ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์

  • ก่อนทานอาหาร น้อยกว่า 95 mg/dL
  • หลังทานอาหาร 1 ชั่วโมง น้อยกว่า 140 mg/dL
  • หลังทานอาหาร 2 ชั่วโมง น้อยกว่า 120 mg/dL

เบาหวานคนท้อง

คนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน

  • ก่อนทานอาหารแต่ละมื้อ ควรน้อยกว่า 100 mg/dL
  • หลังทานอาหาร 2 ชั่วโมง ควรน้อยกว่า 140 mg/dL

ไม่ว่าจะเป็นหรือไม่เป็นโรคเบาหวาน ก็ควรดูแลระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในช่วงปกติเสมอ เพราะน้ำตาลในเลือดที่สูงส่งผลอันตรายมากกว่าที่คุณคิด

เครื่องตรวจระดับน้ำตาล ตรวจเบาหวาน

เบาหวานขึ้นต้องรีบไปหาหมอไหม?

         ผู้ป่วยเบาหวานที่เบาหวานขึ้นเกิน 130 mg/dL (ก่อนกินข้าว) และ 180 mg/dL (หลังกินข้าว) แต่ไม่เกิน 250 mg/dL เบื้องต้นแนะนำให้ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ ปรับยาอินซูลินตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา และคอยสังเกตอาการผิดปกติอย่างสม่ำเสมอ ถ้าพบอาการผิดปกติให้รีบปรึกษาแพทย์ ส่วนผู้ป่วยที่มีภาวะเบาหวานขึ้น 250 mg/dL ขึ้นไป แนะนำให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะถือว่าอันตรายมาก

เบาหวานขึ้น 300

อาการน้ำตาลในเลือดสูงที่ควรไปพบแพทย์

  • ลมหายใจมีกลิ่นคล้ายผลไม้
  • หายใจสั้น-ถี่ หายใจลำบาก
  • ปากแห้ง กระหายน้ำมาก ปัสสาวะบ่อย
  • คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง
  • อ่อนเพลีย น้ำหนักลดผิดปกติ
  • มีอาการสับสน ซึมลง เหม่อลอย
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • บางรายไม่ได้สติ และไม่รู้สึกตัว
  • ในกรณีร้ายแรง ผู้ป่วยจะช็อกหมดสติ และเสี่ยงเสียชีวิตได้
เลือดเป็นกรด Ketoacidosis ในผู้ป่วยเบาหวาน อันตรายที่มองข้ามไม่ได้!

สำหรับคนเป็นเบาหวาน ควรตรวจน้ำตาลวันละกี่ครั้ง

         เรียกได้ว่าเป็นคำถามยอดฮิตของผู้ป่วยเบาหวานมือใหม่เลยก็ว่าได้ เมื่อเป็นเบาหวานแล้วต้องคอยตรวจเช็กระดับน้ำตาลในเลือดเองเป็นประจำ เพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลสูงหรือต่ำอันตรายแบบไม่รู้ตัว แล้วคำว่า ‘ประจำ’ แท้จริงแล้วต้องตรวจเช็กบ่อยแค่ไหน จำเป็นต้องตรวจทุกวันเลยหรือเปล่านะ?

เบาหวานขึ้นเท่าไหร่อันตราย

เป็นเบาหวานต้องตรวจน้ำตาลบ่อยแค่ไหน

  • หากคุณต้องฉีดอินซูลินวันละ 1 ครั้ง แนะนำให้ตรวจก่อนกินอาหารเช้าทุกวัน หรืออย่างน้อย 3 ครั้ง/อาทิตย์
  • กรณีคุณฉีดอินซูลินวันละ 2 ครั้ง ให้ตรวจก่อนกินอาหารเช้าและเย็นทุกวัน หรืออย่างน้อย 3 ครั้ง/อาทิตย์
  • หากคุณต้องฉีดอินซูลินวันละ 3 ครั้งขึ้นไป ควรตรวจก่อนกินอาหารเช้า กลางวัน และเย็นทุกวัน หรืออย่างน้อย 3 ครั้ง/อาทิตย์ แนะนำให้ตรวจก่อนนอนบ้างเป็นครั้งคราว
  • ผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรตรวจน้ำตาลวันละ 7 ครั้ง คือ ก่อนและหลังอาหาร (1-2 ชั่วโมง) ทั้งมื้อเช้า กลางวัน เย็น และตรวจครั้งสุดท้ายก่อนนอน แต่สามารถลดจำนวนครั้งในการตรวจได้ ถ้าสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีแล้ว
  • ควรตรวจเมื่อสงสัยว่าน้ำตาลในเลือดต่ำ หากพบว่าต่ำให้พยายามตรวจติดตามผลไปจนกว่าระดับน้ำตาลในเลือดจะกลับมาปกติ
  • ช่วงที่มีภาวะเจ็บป่วยไม่สบายต่างๆ ควรตรวจทุก 4-6 ชั่วโมง เพื่อค้นหาแนวโน้มที่จะเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำ
  • ตรวจน้ำตาลก่อนและหลังออกกำลังกาย เพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลต่ำ
  • ตรวจช่วงเวลาทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยง เช่น การขับรถ เพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลต่ำที่อาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้

น้ำตาลในเลือดสูง

อย่างไรก็ตาม ความถี่ของการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ควรตรวจให้เหมาะกับอาการ หรือรูปแบบการรักษา ซึ่งแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อความแน่ใจ แนะนำให้ตรวจตามที่แพทย์ผู้รักษาแนะนำ

สรุป

         หลังจากที่ทราบไปแล้วว่า เบาหวานขึ้นเท่าไหร่อันตราย ผู้ป่วยทุกคนจำเป็นจะต้องดูแลอย่าให้ระดับน้ำตาลสูงไปถึงระดับนั้นนะคะ เพราะเสี่ยงมาก ๆ ที่จะก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่ทำให้อาการต่าง ๆ แย่ลง ดีไม่ดีเสี่ยงต่อชีวิตอีก ดังนั้น แนะนำให้ซื้อเครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือดติดบ้านไว้ เพื่อคอยเช็กระดับน้ำตาลด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอนะคะ

เรื่องเบาหวานน่ารู้

Website ของเรามีการเก็บ cookies เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ... อ่านเพิ่มเติม นโยบายคุกกี้

Close Popup