บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น “ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้” หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
โรคอ้วนจัดเป็นโรคในอันดับต้น ๆ ที่คนไทยรวมถึงคนทั่วโลกกำลังประสบพบเจอ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากรูปแบบการดำเนินชีวิต หรือ รูปแบบการบริโภค ความอ้วนจึงเป็นสิ่งที่หลาย ๆ ท่านไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตนเอง ในทางกลับกันก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ประสบกับปัญหากินเยอะแต่ไม่อ้วน ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป เพราะอาจเป็นสัญญาณความผิดปกติที่นำไปสู่ปัญหาสุขภาพอยู่ก็ได้
สารบัญ
- กินเยอะแต่ไม่อ้วน เกิดจากอะไร ?
- กินเยอะ แต่น้ำหนักลดลงเรื่อย ๆ เสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง ?
- คนที่กินเยอะแต่ไม่อ้วน ถ้าอยากเพิ่มน้ำหนักต้องทำยังไง ?
กินเยอะแต่ไม่อ้วน เกิดจากอะไร ?
แน่นอนว่า ไม่มีใครอยากมีรูปร่างที่ตนเองไม่พอใจ อย่างบอกคนที่มีปัญหากินเยอะแต่ไม่อ้วน บางคนอาจจะรู้สึกดี แต่บางคนกลับรู้สึกว่าอยากอ้วนกว่านี้ อยากดูมีเนื้อมีหนังบ้าง แต่กินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วนสักที เกิดจากอะไรกันแน่?! ก่อนอื่นเราก็ต้องมาทำความเข้าใจกับสาเหตุที่ทำให้กินเยอะแต่ไม่อ้วนกันก่อน มันก็มีทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกของร่างกาย ซึ่งมีดังนี้
ปัจจัยที่กินเยอะแต่ไม่อ้วน
- ระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกายมีประสิทธิภาพสูง ในส่วนนี้ก็หมายรวมถึงระบบการย่อยและการดูดซึมอาหารด้วย ซึ่งระบบดังกล่าวที่มีประสิทธิภาพสูงนี้ก็จะทำให้เกิดการกินเยอะแต่ไม่อ้วนขึ้นได้
- ใช้พลังงานของร่างกายอย่างหนักเป็นประจำ ทั้งนี้เมื่อเรากินอาหารเข้าไป อาหารก็จะถูกแปรรูปกลายไปเป็นพลังงานที่ร่างกายต้องใช้ในแต่ละวัน ซึ่งถ้าอัตราการใช้พลังงานเท่ากับอัตราการแปรรูปก็จะไม่เกิดการสะสมของพลังงานที่มากเกินพอดี หรือ พลังงานเหล่านั้นจะไม่กลายไปเป็นไขมันสะสมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแล้วทำให้เกิดความอ้วนขึ้นนั่นเอง ในสาเหตุข้อนี้จะพบได้บ่อยมากในกรณีของผู้ที่ต้องใช้แรงงานอย่างหนักในการทำงาน
- ออกกำลังกายอย่างหนักเป็นประจำ ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับการใช้พลังงานอย่างหนัก เพียงแต่สาเหตุของการใช้พลังงานมาจากการออกกำลังกายแทน ส่วนนี้เราก็สามารถสังเกตได้จากผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ผู้ที่มักวิ่งมาราธอน หรือ ผู้ที่เล่นไตรกีฬามักไม่ประสบปัญหาความอ้วนเลย
- การทำงานที่ผิดปกติของระบบย่อยอาหาร ตั้งแต่การย่อยเชิงกลด้วยแรงกัดเคี้ยวของฟัน ไปจนกระทั่งถึงความผิดปกติในการทำงานของหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้ใหญ่
- เกิดพยาธิขึ้นในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย
- ระบบฮอร์โมนของร่างกายที่เกิดความผิดปกติ
กินเยอะแต่ไม่อ้วน เสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง?
เมื่อเราทราบถึงสาเหตุการกินเยอะแต่ไม่อ้วนกันแล้ว ว่าอาจมีสาเหตุมาจากการเป็นโรคบางชนิด ดังนั้น เรามาทำความเข้าใจให้ลึกกันมากขึ้นดีกว่าว่า โรคอะไรบ้างที่มักทำให้เรากินเยอะแต่ไม่อ้วน รวมทั้งการกินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคอะไรได้บ้างค่ะ
กินเยอะแต่ไม่อ้วนคุณอาจเป็นโรคร้ายบางอย่าง?
- โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ สังเกตได้จากพฤติกรรมการกินว่ากินเท่าไรก็ไม่อ้วน แถมในบางรายยิ่งกินเยอะแต่น้ำหนักลดลง ร่วมด้วยอาการหัวใจเต้นเร็ว หงุดหงิดง่าย ประจำเดือนมาไม่ปกติ เมื่อพบอาการเหล่านี้ก็ต้องรีบไปปรึกษาแพทย์ เพราะต่อมไทรอยด์เริ่มมีการทำงานที่ผิดปกติ โดยการสร้างฮอร์โมนไทร็อกซินออกมามากกว่าปกติ ยิ่งมีการผลิตฮอร์โมนไทร็อกซินออกมามากเท่าไร ร่างกายก็จะยิ่งเผาผลาญพลังงานมากเท่านั้น โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับส่วนของปริมาณอาหารที่กินเข้าไปเลย
- โรคโครห์น หรือ Crohn’s disease ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการกินเท่าไรก็ไม่อ้วน แถมด้วยอาการปวดท้อง ท้องเสียบ่อย ๆ และอุจจาระมีมูกหรือเลือดปะปนออก
- โรคชีแฮน ซินโดรม หรือ Sheehan’s Syndrome ซึ่งโรคนี้มักเกิดขึ้นกับคุณแม่หลังคลอด มีอาการตกเลือดอย่างรุนแรงระหว่างคลอดบุตร ทำให้เลือดไปเลี้ยงต่อมใต้สมองไม่เพียงพอ ทำให้มีผลกระทบต่อการหลั่งของฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมส่วนต่างๆของร่างกาย ถ้าหากคุณแม่ท่านไหนมีอาการกินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน อาจจะเกิดจากโรคนี้
- โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือ IBD หากกินเท่าไหร่ก็ยังไม่อ้วน แต่มีการขับถ่ายที่ผิดปกติ อาจจะต้องคำนึงถึงโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง เพราะว่าผู้ป่วยโรคนี้มักมีภาวะน้ำหนักลดและอ้วนยากอีกด้วย
- โรคเบาหวาน อย่างที่เรารู้กันดีว่าเป็นโรคนี้จะสามารถกินได้เยอะแต่ไม่อ้วน เนื่องมาจากร่างกายของผู้ป่วยมีระดับอินซูลินในเลือดมาก ทำให้เข้าห้องน้ำบ่อยและส่งผลให้ไตทำงานหนัก ร่างกายเกิดกระบวนการเผาผลาญแคลอรีมากขึ้นด้วย
คนที่กินเยอะแต่ไม่อ้วน อยากเพิ่มน้ำหนักต้องทำยังไง?
สำหรับใครที่กินเยอะแต่ไม่อ้วน หรือกินจุแต่ยังผอม แล้วมีเป้าหมายต้องการเพิ่มน้ำหนักให้ได้ตามาตรฐาน (BMI) วันนี้ Allwell มีเคล็ดลับดี ๆ มาฝากค่ะ ทำง่าย ๆ ได้ที่บ้าน ที่จะช่วยเพิ่มน้ำหนักพร้อมกับการมีสุขภาพที่ดี แต่ผลลัพธ์ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลนะคะ ไปดูกันว่ามีวิธีไหนที่จะช่วยเพิ่มน้ำหนักได้บ้าง
การเพิ่มน้ำหนักทำได้อย่างไรบ้าง?
- เลือกกินอาหารที่มีปริมาณแคลอรี่ที่สูงขึ้น แต่เป็นแคลอรี่ที่ไม่เป็นไขมันเลว
- กินวิตามินเสริมเพิ่มความอยากอาหาร
- พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ไม่หักโหมจนเป็นการใช้พลังงานในปริมาณสูงเกินพอดี
- การปรึกษาแพทย์ หรือ ผู้เชี่ยวชาญก่อน เพื่อให้ทราบสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาการกินเยอะ แต่น้ำหนักไม่เพิ่ม
- แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัยแล้วว่าสาเหตุเกิดจากสิ่งใด ให้เริ่มแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุก่อนเลย อย่างสาเหตุที่มีพยาธิอยู่ในระบบต่าง ๆ ของร่างกายก็ควรกินยาถ่ายพยาธิ แต่หากเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของระบบฮอร์โมน ระบบเผาผลาญพลังงาน หรือระบบย่อยและระบบทางเดินอาหารก็ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
สรุป
รูปร่างที่สมส่วนจากการกินที่พอเหมาะคงเป็นสิ่งหนึ่งที่บ่งชี้ถึงความสมบูรณ์ของสุขภาพ และจากบทความข้างต้นกับการกินเยอะแต่ไม่อ้วนก็เป็นหนึ่งสิ่งที่บ่งชี้ว่าคุณเองกำลังมีสุขภาพเช่นไร อย่างการกินเยอะแล้วมีการใช้พลังงานหรือออกกำลังกายจนร่างกายไม่สามารถนำไขมันไปสะสมเป็นความอ้วนได้ก็ไม่อาจจัดเป็นปัญหาสุขภาพได้
แต่ถ้ายิ่งกินเยอะแล้วผอมลงเรื่อย ๆ ส่วนนี้เจ้าของร่างกายและคนรอบข้างก็ต้องสังเกต หาสาเหตุ หรือไปรับคำปรึกษา วินิจฉัยและรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยด่วน เพื่อให้สัญญาณที่ร่างกายส่งออกมานี้กลายเป็นสัญญาณเตือนที่เป็นประโยชน์ต่อไป