การดูแลผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก ด้วยการจัดสภาพแวดล้อมบ้านให้เหมาะสม

การดูแลผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก

        ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หรือผู้ป่วย Stroke เมื่ออาการต่าง ๆ ดีขึ้นแล้ว ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีภาวะอัมพาตครึ่งซีกตามมาด้วย ซึ่ง การดูแลผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก นั้น ผู้ดูแลจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการดูแล การฟื้นฟู และการจัดการเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย โดยสิ่งหนึ่งที่ผู้ดูแลควรให้ความสำคัญ คือการจัดสิ่งแวดล้อมให้ผู้ป่วยที่บ้าน ที่อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก

สารบัญ

การจัดบ้านให้เหมาะสมกับผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก จำเป็นแค่ไหน?

         หลายคนสงสัยว่า การดูแลผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก จำเป็นจะต้องปรับสภาพแวดล้อมด้วยเหรอ? ไม่ทำได้ไหม? ต้องบอกเลยค่ะว่า การจัดบ้านให้เหมาะสมกับผู้ป่วย เป็นเรื่องที่จำเป็นจะต้องทำ เพราะไม่ใช่แค่อำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยให้ผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ดูแลในการดูแลประคับประคองผู้ป่วยอีกด้วย

การดูแลผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก

ประโยชน์ของการจัดสภาพแวดล้อมให้ผู้ป่วย

  • ให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตภายในบ้านด้วยตนเองได้อย่างปลอดภัย
  • ส่งเสริมให้ผู้ป่วยฟื้นฟูศักยภาพและความสามารถในการทำกิจกรรมต่าง ๆ
  • การทำกิจกรรมต่าง ๆ จะส่งเสริมให้สมองและกล้ามเนื้อถูกกระตุ้นและพัฒนาความสามารถในระยะยาว
  • เมื่อผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองได้มาก ก็สามารถแบ่งเบาภาระให้ผู้ดูแลให้น้อยลงได้
  • ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตในบ้านเองได้เต็มที่ ก็สามารถออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านได้มากขึ้น
  • ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
  • ไม่เกิดความพิการซ้ำซ้อน และลดภาวะแทรกซ้อนจากการนอนติดเตียง
3 เดือนแรกสำคัญ! การดูแลผู้ป่วย Stroke (โรคหลอดเลือดสมอง) ตั้งแต่ระยะแรก-ระยะทรงตัว

การดูแลผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก ด้วยการจัดบ้านให้เหมาะสม

         หลังจากที่ได้ทราบกันแล้วว่า การดูแลผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก ด้วยการจัดสภาพแวดล้อมบ้านให้เหมาะสมมีความสำคัญและความจำเป็นแค่ไหนต่อผู้ป่วยและผู้ดูแล ต่อมาเรามาดูวิธีในการจัดสภาพแวดล้อมทั้งในและนอกบ้านว่าควรทำอย่างไรถึงจะเหมาะสม และมีจุดไหนในบ้านบ้างที่เราควรให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยค่ะ

1. พื้นที่ภายในและภายนอกบ้าน

การดูแลผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก

         กรณีบริเวณพื้นที่ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่ตัวบ้าน (อาคาร) หรือพื้นที่ภายในบ้าน เป็นพื้นที่ที่มีความต่างระดับ หรือมีบันไดเข้าบ้านหลายขั้น ผู้ดูแลควรจัดให้มี “ทางลาด” เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้รถเข็นผู้ป่วยวีลแชร์ค่ะ เพราะถ้าไม่มีทางลาด เวลาที่จะนำผู้ป่วยออกหรือเข้าบ้านจะมีความยุ่งยากมาก เช่น ต้องอุ้มประคองผู้ป่วยลงจากรถก่อน หรือบางคนยกผู้ป่วยลงทั้ง ๆ ที่นั่งรถเข็น ซึ่งใช้ผู้ดูแลมากกว่า 2 คน เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุระหว่างนั้นได้

         การมีทางลาดช่วยอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยเช่นนี้ จะทำให้ผู้ป่วยในระยะทรงตัวที่มีความแข็งแรง จะสามารถใช้ชีวิตด้วยตนเองได้ โดยพึ่งพาผู้ดูแลน้อยลง อีกทั้งทางลาดที่มีราวจับ จะสามารถใช้เป็นพื้นที่ในการฝึกเดิน ฝึกยืน หรือกายภาพผู้ป่วยได้อีกด้วยค่ะ

ทางลาดผู้พิการ ผู้สูงอายุ

ทางลาดที่ดีควรเป็นอย่างไร?

  • ทางลาดต้องมีความชันไม่เกิน 5 องศา
  • ขนาดทางลาด ต้องกว้างมากกว่า 90 เซนติเมตร เพื่อให้สามารถเข็นรถวีลแชร์ผ่านไปได้
  • หากถ้าทางลาดมีความสูงเกิน 15 เซนติเมตร หรือมีความยาวเกิน 1.8 เมตร จำเป็นต้องทำราวเกาะไว้ทั้ง 2 ข้าง เพื่อป้องกันอันตราย
  • ในกรณีที่ทางลาดยาวเกิน 10 เมตรขึ้นไป หรือมีทางลาดมีทางลงสู่ถนนโดยตรง ควรออกแบบให้มีหักมุมช่วงลง หรือมีที่สำหรับพัก ซึ่งที่พักควรมีพื้นที่อย่างน้อย 1.5 x 1.5 ตารางเมตร
  • ทางลาดควรมีพื้นที่ราบ สำหรับผู้ป่วยที่ใช้หัดเดิน
  • พื้นผิวทางลาดควรเป็นพื้นผิวที่ไม่ลื่น และควรมีขั้นป้องกันการลื่น

2. ประตู

การจัดสิ่งแวดล้อมให้ผู้ป่วยที่บ้าน

  • ประตู ควรมีความกว้างมากกว่า 82-90 เซนติเมตร หรือกว้างกว่าขนาดรถเข็นวีลแชร์ กรณีประตูแคบเกินไป ให้ลองเปลี่ยนเป็นบานพับซ้อน หรือไสวงกบออกเพื่อให้ประตูกว้างขึ้น หากยังไม่เพียงพอ ให้นำบานประตูออก เปลี่ยนเป็นผ้าม่านแทน แต่หากลองทุกวิธีแล้วยังแคบเกินไป ให้พิจารณาทำประตูใหม่
  • การเปิด-ปิดประตูต้องทำได้ง่าย ประตูที่ดีกับผู้ป่วยที่สุดคือประตูบานเลื่อนหรือประตูสไลด์ แต่หากเป็นประตูเปิดเข้าออกแบบทั่วไป แนะนำให้ออกแบบประตูเป็นแบบเปิดออกจะสะดวกกว่าแบบเปิดเข้า โดยพิจารณาเปลี่ยนลูกบิดประตูแบบกลมเป็นแบบก้านยาว จะดีกับผู้ป่วยที่สุด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่สามารถออกแรงที่มือได้ ก็สามารถใช้แขนกดที่ก้านประตูเพื่อเปิดประตูได้
  • ไม่ควรมีธรณีประตู หรือสิ่งกีดขวาง หรือถ้ามีก็ไม่ควรสูงเกิน 1.3 เซนติเมตร เพื่อป้องกันอุบัติเหตุสะดุดล้ม และเพื่อความง่ายในการเข็นรถเข็นผู้ป่วยเข้า-ออก

3. ทางเดิน

จัดบ้านให้ผู้ป่วย

         ทางเดินหรือทางเชื่อมต่าง ๆ ในบ้าน ควรมีพื้นที่มากกว่า 90 เซนติเมตร สำหรับการเข็นรถเข็นวีลแชร์ผ่าน พื้นทางเดินต้องเป็นพื้นเรียบแต่ไม่ลื่น พื้นผิวไม่ต่างระดับกัน (ถ้าต่างต้องมีทางลาด) มีแสงสว่างเพียงพอ และไม่มีสิ่งกีดขวางขวางทางผู้ป่วย

4. บันได

การดูแลผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก

  • ความสูงของขั้นบันไดที่เหมาะสมคือสูงไม่เกิน 14 เซนติเมตร และกว้าง 32 เซนติเมตร จะอยู่ในช่วงที่ไม่ชันเกินไปสำหรับผู้ป่วย
  • บันไดต้องมีราวเกาะทั้ง 2 ข้าง โดยราวเกาะมีความสูงประมาณ 85-90 เชนติเมตร
  • ขนาดของราวเกาะ ควรมีเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 1.25 – 5 เซนติเมตร
  • ผิวของราวเกาะและพื้นบันได ต้องไม่ลื่น
  • ถ้าบันไดมีความไม่เหมาะสม หรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถเดินได้ ควรจัดให้ผู้ป่วยนอนชั้นล่างจะดีที่สุด

5.ห้องนอน

การดูแลผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก

เตียงผู้ป่วยไฟฟ้า รุ่น FLOORE สามารถปรับสูง-ต่ำได้ถึง 23-68 cm ปรับท่าการใช้งานรวม 7 ฟังก์ชัน มีราวกั้นเตียงแบบ 2 ตอนเต็มเตียง มาพร้อมไฟใต้เตียงเพิ่มความปลอดภัยยามค่ำคืน

  • เตียงนอน ควรเป็นเตียงผู้ป่วยที่ปรับความสูงได้ เพื่อให้พอดีกับระดับรถเข็นผู้ป่วย สะดวกต่อการเคลื่อนย้ายไปที่เตียงนอน และควรปรับต่ำได้ เพื่อความสะดวกในการขึ้นลงและปลอดภัยในระหว่างผู้ป่วยอยู่บนเตียง
  • ไม่ควรวางเตียงชิดผนัง หรือเลือกใช้เตียงที่หัวท้ายเตียงนอนควรถอดได้ เพื่อความสะดวกในการดูแลผู้ป่วยบนเตียง และอำนวยความสะดวกเวลาทำกายภาพ
  • เตียงควรมีราวกั้นเตียงหรือราวกั้นตก แบบสองตอน เพื่อให้ผู้ป่วยใช้เกาะ ค้ำยันขณะลุกขึ้นหรือนั่ง และสามารถใช้ฝึกยืนกายภาพได้
  • ควรมีโต๊ะคร่อมเตียง หรือตู้ข้างเตียง ไว้สำหรับวางของใช้จำเป็น โดยตั้งชิดหัวเตียงข้างที่อ่อนแรง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเอื้อมหยิบของได้เอง
  • มีแสงสว่างที่เหมาะสม และจัดให้มีโคมไฟข้างเตียง

6. ห้องน้ำ

รถวีลแชร์

รถเข็นผู้ป่วยวีลแชร์ ALLWELL มีให้เลือกทั้งล้อเล็ก-ล้อใหญ่ รับน้ำหนักได้สูง สามารถพับเก็บท้ายรถได้

  • พื้นที่ว่างในห้องน้ำ ควรมีกว้างมากกว่า 1.5 X 1.5 ตารางเมตร พอที่วีลแชร์จะกลับรถได้สะดวก
  • ควรติดราวเกาะ เพื่อให้ผู้ป่วยใช้จับยึดพยุงตัว โดยราวเกาะควรสูงประมาณ 85-90 เซนติเมตร และยาวไม่น้อยกว่า 1 เมตร ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3.2-5.1 เซนติเมตร ติดให้ยื่นห่างจากผนังมากกว่า 3.8 เซนติเมตร เพื่อให้สามารถสอดนิ้วมือเข้าไปกำราวได้สะดวก
  • โถส้วมควรเป็นแบบชักโครกแทนแบบนั่งยอง หรืออาจใช้เก้าอี้นั่งถ่ายของผู้ป่วยช่วย
  • อ่างล้างหน้า ควรสูงประมาณ 68.5-91.5 เชนติเมตร และมีพื้นที่ว่างด้านล่างพอที่จะสอดรถเข็นวีลแชร์ (ช่วงขาผู้ป่วย) เข้าไปได้
  • จัดให้มีรถเข็นอาบน้ำ หรือเก้าอี้นั่งอาบน้ำให้ผู้ป่วย เพื่อความปลอดภัยในขณะอาบน้ำ
  • พื้นห้องน้ำควรแห้งอยู่เสมอ และควรมีแผ่นรองกันลื่น
  • อุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ควรอยู่สูงในระดับ 50-140 ซม. จะเป็นระดับที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยในการเอื้อมหยิบของ

7.อื่น ๆ

การดูแลผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก

  • แม้จะส่งเสริมให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตด้วยตัวคนเดียวได้ แต่ก็ควรมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด
  • แนะนำให้หากริ่งให้ผู้ป่วย เมื่อต้องการความช่วยเหลือ
  • หากผู้ป่วยต้องสวมรองเท้า ควรหารองเท้าผู้ป่วยส้นเตี้ยหรือไม่มีส้น และมีกันลื่น
  • หลีกเลี่ยงการให้ผู้ป่วยใช้ของมีคม
  • โต๊ะหรือเคาน์เตอร์ต่าง ๆ ควรมีความสูงในช่วง 76-85 เชนติเมตร หรือสูงกว่าที่พักแขนของเก้าอี้ล้อเข็นเล็กน้อย
  • สวิตช์ไฟ โทรศัพท์ หรือชั้นวางของต่าง ๆ ต้องมีความสูงประมาณ 38-120 เซนติเมตร เพื่อให้ผู้ป่วยเอื้อมหยิบได้ง่าย
  • ผู้ดูแลควรจัดวางของต่าง ๆ ให้เป็นระเบียบ จุดไหนที่ผู้ป่วยที่ใช้รถเข็นวีลแชร์จะสามารถมาหยิบของเองได้ ควรจัดบริเวณพื้นที่เหล่านั้นประมาณ 1.5 x 1.5 ตารางเมตร เพื่อให้สามารถกลับรถเข็นได้สะดวก

สรุป

          การดูแลผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก สิ่งสำคัญคือการเสริมสร้างให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตด้วยตนเองได้มากที่สุด สามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำต่าง ๆ ได้เหมือนเคย ซึ่งในบทบาทของผู้ดูแลจำเป็นจะต้องคอยช่วยฟื้นฟูผู้ป่วย ไปพร้อม ๆ กับการสร้างความปลอดภัย ซึ่งหนึ่งในนั้น คือการจัดสภาพแวดล้อมบ้านให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกอย่างเหมาะสมนั่นเองค่ะ

เรื่องอื่น ๆ ที่คุณอาจสนใจ

Website ของเรามีการเก็บ cookies เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ... อ่านเพิ่มเติม นโยบายคุกกี้

Close Popup